[Font : 15 ]
| |
อนุสัย เนื่องอยู่กับเวทนา |  

ภิกษุ ท.! เวทนา 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่างเหล่าไหนเล่า? 3 อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา.

ภิกษุ ท.! ราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย ปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย. อวิชชานุสัยอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย.

ภิกษุ ท.! เมื่อใด ราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุ ละได้แล้ว, ปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว. อวิชชานุสัยอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว; ภิกษุ ท.! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีอนุสัย เป็นผู้เห็นชอบ ตัดตัณหาได้ขาดแล้ว รื้อถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วเพราะรู้เฉพาะซึ่งมานะโดยชอบ.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนาอยู่ ไม่รู้จักชัดซึ่งเวทนานั้น ราคานุสัยย่อมมีแก่เขาผู้มองไม่เห็นทางออกจากอำนาจของเวทนานั้น . เมื่อบุคคลเสวยทุกขเวทนาอยู่ ไม่รู้จักชัดซึ่งเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่เขาผู้มองไม่เห็นทางออกจากอำนาจของเวทนานั้น . บุคคลเพลิดเพลินแม้ในอทุกขมสุข อันพระภูริปัญญาพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นธรรมอันรำงับ ก็หาพ้นจากทุกข์ไปได้ไม่.

เมื่อใดภิกษุ มีความเพียรเผากิเลส ไม่ทอดทิ้งสัมปชัญญะ ก็เป็นบัญฑิต รอบรู้เวทนาทั้งปวง. ภิกษุนั้น เพราะรอบรู้ซึ่งเวทนา จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในทิฏฐธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมจนกระทั่งกายแตก จบเวท ไม่เข้าถึงซึ่งการนับ (ว่าเป็นอะไร) แล.

- สฬา. สํ. 18/254/363-364.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง