[Font : 15 ]
| |
ขันธ์

๑. พยัญชนะ: (โดยตัวหนังสือ หรือคำแปลตามตัวหนังสือ)

ขันธ์โดยพยัญชนะ: คือ ส่วน, กลุ่ม, กอง.

๒. อรรถะ: (โดยความหมาย)

ขันธ์โดยอรรถะ คือ ส่วนที่ต้องประกอบกันเข้ากับส่วนอื่นๆ จน เกิดเป็นอัตภาพบุคคลหนึ่ง ๆ ขึ้นมา. (คำๆ นี้ใช้กับสิ่งอื่นๆ ที่ ไม่เกี่ยวกับบุคคลก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวไว้ในที่นี้; ความหมายโดยส่วนรวมก็คือกลุ่มน้อยๆ ซึ่งจะประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ หรือทั้งหมด)

๓. ไวพจน์: (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้ทั้งคำบาลีและคำภาษาไทย)

ขันธ์โดยไวพจน์ คือ ภาคะ, โกฏฐาส, สมุหะ.

๔. องค์ประกอบ: (ปัจจัยที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง, และปัจจัยนั้นๆต้องทำงานร่วมกันและพร้อมกันในเรื่องเดียวกัน)

ขันธ์โดยองค์ประกอบ คือ ธาตุ, อายตนะ, การปรุงแต่ง.

๕. ลักษณะ: (ลักษณะภายนอกที่เป็นเครื่องสังเกตหรือเครื่องกำหนดที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร จึงเรียกว่าอย่างนั้น)

ขันธ์โดยลักษณะ

๕.๑ มีลักษณะเป็นส่วนประกอบ.

๕.๒ มีสามัญลักษณะเป็นลักษณะ.

๕.๓ มีลักษณะที่ชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นตัวตน.

๖. อาการ: (อาการเคลื่อนไหว หรือ แสดงความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยอาการ มีอาการ:

๖.๑ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย.

๖.๒ เป็นได้ทั้งเป็นเหตุและเป็นผล.

๖.๓ ประหนึ่งว่าเป็นตัวตนจนเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ.

๗. ประเภท: (การจำแนกให้เข้ากันเป็นพวกๆตามลักษณะอาการของสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยประเภท แบ่งเป็นสอง:

๑. สุทธขันธ์: (ขันธ์ล้วนที่ยังไม่เกิดอุปาทาน) ไม่ก่อให้เกิดทุกข์.

๒. อุปาทานขันธ์: (ขันธ์ที่มีอุปาทานยึดถืออยู่) เป็นตัวทุกข์.

๘. กฏเกณฑ์: (กฏเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆหรือกฏเกณฑ์เพื่อจะเข้าไปถึงสิ่งนั้นๆซึ่งอาจมีได้ทั้งโดยบัญญัติและโดยธรรมชาติ)

ขันธ์โดยกฏเกณฑ์ ในตัวมันเองมีกฏเกณฑ์ว่ายึดถือไม่ได้ ยึดถือแล้วจะเป็นทุกข์.

๙. สัจจะ: (ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยสัจจะ

๙.๑ มีสามัญลักษณะ: ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา.

๙.๒ มีนิตยลักษณะ: เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป.

๙.๓ ขันธ์เกิดพร้อมกับปฏิจจสมุปบาท.

๑๐. หน้าที่: (การที่สิ่งมีชีวิตจะต้องกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยหน้าที่ มีหน้าที่ (โดยสมมติ) เฉพาะแต่แก่ฝ่ายผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขันธ์: คือ ต้องบริหารให้ถูกต้อง โดยไม่มีความยึดมั่นถือถือมั่นว่าตัวตน.

๑๑. อุปมา: (การเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด)

ขันธ์โดยอุปมา เหมือนทัพพสัมภาระ: (คือส่วนประกอบที่ต้องมีต้องใช้) ในการสร้างสิ่ง สมบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง: ตัวอย่างเช่น บ้านหลังหนึ่งจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง.

๑๒. สมุทัย: (สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยสมุทัย คือ ขันธ์เกิดมาจากการปรุงแต่งของธาตุ ของอายตนะ ตามกฏอิทัปปัจจยตา.

๑๓. อัตถังคมะ: (ความดับของสิ่งนั้นๆ; คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้ชั่วคราว หรือตลอดไปของสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยอัตถังคมะ เพราะขาดปัจจัย ขาดการปรุงแต่งตามคราว ตามกฏอิทัปปัจจยตา.

๑๔. อัสสาทะ: (เสน่ห์หรือรสอร่อยที่ยั่วยวนของสิ่งนั้นๆซึ่งมีต่อมนุษย์)

ขันธ์โดยอัสสาทะ มีแก่ผู้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เกิดความเป็นตัวตนและของตน ด้วยอำนาจอวิชา.

๑๕. อาทีนวะ: (โทษหรือความเลวร้ายของสิ่งนั้นๆซึ่งซ่อนอยู่อย่างเห็นได้ยาก)

ขันธ์โดยอาทีนวะ มีแก่ผู้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เกิดความเป็นตัวตนและของตน ด้วยอำนาจอวิชา.

๑๖. นิสสรณะ: (อุบายหรือวิธีที่จะออกหรือพ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยนิสสรณะ ทางออกจากโทษของขันธ์: คือ การเห็นแจ้งขันธ์ตามที่เป็นจริง แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์; และ/หรือ เป็นอยู่ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นการป้องกันการเกิดการยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา.

๑๗. ทางปฏิบัติ: (ทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆเพื่อให้เกิดผลดีตามที่ประสงค์)

ขันธ์โดยทางปฏิบัติ เพื่อมีวิสุทธิขันธ์A10: คือ การมีวิปัสสนาญาณในการที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์

๑๘. อานิสงส์: (ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆ)

ขันธ์โดยอานิสงส์ คือ การรู้จักใช้ขันธ์ในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่น; เป็นวิสุทธิขันธ์อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงที่สุด.

๑๙. หนทางถลำ: (การมีโอกาสหรือความบังเอิญที่ทำให้เกิดความง่ายแก่การปฏิบัติ หรือการทำหน้าที่ให้สำเร็จโดยง่ายยิ่งขึ้น; แต่ในบางกรณี ความบังเอิญนี้มีได้แม้ในฝ่ายลบที่ไม่พึงประสงค์)

ขันธ์โดยหนทางถลำ

๑๙.๑ เข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของอุปาทานขันธ์: คือ ความปราศจากสติและปัญญา ที่สามารถต้านทานความยั่วบวนหลอกลวงของขันธ์.

๑๙.๒ ออกจากอิทธิพลของอุปาทานขันธ์: คือ ภาวะที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว.

๒๐. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: (ปัจจัยหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยให้การกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆเกิดความสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็วที่สุด)

ขันธ์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง ในการเป็นอิสระจากขันธ์: คือ ญาณหรือสติปัญญาในการปล่อยวาง ที่ได้มาจากการอบรม.

๒๑. ภาษาคน-ภาษาธรรม: (การพูดจาที่จะกล่าวถึงสิ่งใดๆนั้นมีทางพูดได้สองภาษาคือ ภาษาคนและภาษาธรรม (1) ภาษาคน หมายถึง ภาษาที่คนธรรมดาใช้พูด ซึ่งมักระบุไปยังบุคคลหรือวัตถุภายนอก ที่เรียกกันว่า บุคคลาธิษฐาน (2)ภาษาธรรม หมายถึง ภาษาที่ผู้รู้ธรรมพูด ซึ่งมักระบุไปยังคุณค่าหรือคุณสมบัติ โดยไม่เล็งถึงบุคคลหรือวัตถุ ที่เรียกกันว่า ธรรมาธิษฐาน)

ขันธ์โดยภาษาคน-ภาษาธรรม

๒๑.๑

ภาษาคน: หมายถึงตัวขันธ์นั้นๆ.

ภาษาธรรม: หมายถึงคุณสมบัติ หรืออิทธิพลแห่งขันธ์นั้นๆ.

๒๑.๒

ภาษาคน: ถือว่ามีขันธ์ 5A11 เกิดพร้อมกันอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่ง เวลาหลับ

ภาษาธรรม: มิได้มีอยู่พร้อมกันตลอดเวลา; เกิดตามหน้าที่ ตามโอกาส ตามลำดับ แม้จะเนื่องกันก็มิได้พร้อมกัน.

๒๑.๓

ภาษาคน: ถือว่าเป็นอัตตา.

ภาษาธรรม: ถือว่าเป็นอนัตตา หรืออัตตาซึ่งมิใช่อัตตา.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

๑. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

๒. ปฏิปทาปริทรรศน์

๓. ปรมัตถสภาวธรรม

๔. ฟ้าสางฯ ตอน ๑


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง