[Font : 15 ]
| |
วิธีการบ่มวิมุตติให้ถึงที่สุด |  

เมฆิยะ ! ธรรมทั้งหลาย 5 ประการ เป็นไปเพื่อความสุกรอบ (ปริปาก) ของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ. 5 ประการอย่างไรเล่า ? 5 ประการ คือ :-

1. เมฆิยะ! ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อ 1 เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

2. เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก, คือภิกษุเป็นผู้ มีศีล สำรวมแล้ว ด้วยการสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่ 2 เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

3. เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก, คือภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้ไม่อยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมกถาอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การเปิดโล่งแห่งจิต คืออัปปิจฉกถา (ให้ปรารถนาน้อย) สันตุฏฐิกถา (ให้สันโดษ) ปวิเวกกถา (ให้สงัด) อสังสัคคกถา (ให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่) วิริยารัมภกถา (ให้ปรารภเพียร) สีลกถา (ให้มีศีล) สมาธิกถา (ให้มีสมาธิ) ปัญญากถา (ให้มีปัญญา) วิมุตติกถา (ให้เกิดวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา (ให้เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ) : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่ 3 เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

4. เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก คือภิกษุเป็นผู้ มีความเพียร อันปรารภแล้ว เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่ 4 เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

5. เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก คือภิกษุ เป็นผู้ มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องถึงธรรมสัจจะแห่งการตั้งขึ้นและการตั้งอยู่ไม่ได้ อันเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ : เมฆิยะ! นี้เป็นธรรมข้อที่ 5 เป็นไปเพื่อความสุกรอบแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี, ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เธอพึงหวังได้ คือจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ จักได้โดยง่ายซึ่งธรรมกถา ฯลฯ, จักเป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ จักเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ.

เมฆิยะ ! ภิกษุนั้น ตั้งอยู่ในธรรม 5 ประการเหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรม 4 ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ :-

เจริญ อสุภะ เพื่อ ละราคะ. เจริญ เมตตา เพื่อ ละพยาบาท. เจริญ อานาปานสติ เพื่อ ตัดเสียซึ่งวิตก. เจริญ อนิจจสัญญา เพื่อ ถอนอัสมิมานะ;

กล่าวคือ เมื่อเจริญอนิจจสัญญา อนัตตาสัญญาย่อมมั่นคง. ผู้มีอนัตตสัญญา ย่อมถึงซึ่งการถอนอัสมิมานะ คือ นิพพาน ในทิฏฐธรรม นั่นเทียว.

- นวก. อํ 23/369/207.

(ข้อปฏิบัติระบบนี้ ใช้ได้แม้แก่ผู้ตั้งต้นบำเพ็ญวิมุตติ ; และใช้ได้แก่ผู้บำเพ็ญวิมุตติแล้วแต่ยังไม่กุกรอบ คือเพิ่มข้อปฏิบัติชื่อเดียวกันเหล่านี้ให้ยิ่งขึ้นไป. นับว่าเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญมาก ควรแก่การสนใจอย่างยิ่ง.

ธรรมะ 5 ประการแห่งสูตรนี้ เรียกในสูตรนี้ว่า "เครื่องบ่มวิมุตติ" ในสูตรอื่น (นวก. อํ.23/364/205) เรียกว่า "ที่ตั้งอาศัยแห่งการเจริญโพธิปักขิกธรรม" ก็มี).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง