[Font : 15 ]
| |
แถลงการณ์คณะผู้จัดทำ

หนังสือเล่มนี้ มีขนาดใหญ่มากพอที่จะสะดุดความรู้สึกของผู้ที่ได้เห็นบ้าง ไม่มากก็น้อย และทำให้คิดว่า เรื่องเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทนี้ ทำไมถึงมากถึงอย่างนี้, และนี้จัดทำขึ้นมาด้วยความประสงค์อย่างไรกัน, คณะผู้จัดทำ ขอแถลงให้ทราบดังต่อไปนี้,

ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตลอดแล้ว จะเห็นได้ทันทีว่า ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์และการดับทุกข์ไปทั้งนั้น และเนื่องกับพุทธภาษิตที่ตรัสว่า “ภิกษุ ท.! ก่อนแต่นี้ก็ดี บัดนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติ (เพื่อการสอน) เฉพาะเรื่องความทุกข์ กับความดับแห่งทุกข์เท่านั้น” ดังนี้; ดังนั้นจึงเป็นอันว่า เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพระประสงค์ที่จะสั่งสอนนั่นเอง, ข้อที่พระองค์ตรัสว่า ธรรมที่ตรัสรู้ เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่นำมาสอนนั้นเท่ากับใบไม้กำมือเดียวนั้น โดยพฤตินัยแล้ว เรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งหมดนี้ ก็คือใบไม้กำมือเดียว ดังที่กล่าวนั้น, เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ “อริยสัจโดยสมบรูณ์”

อีกประการหนึ่ง พึงทราบว่า เรื่องอันเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ถูกทอดทิ้ง จมอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่มีใครค่อยหยิบยกเอามาบอกกล่าวสั่งสอน รู้สึกเป็นที่น่าสลดใจ, เนื่องจากเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก, แปลยาก, แปลออกมาแล้วก็ยังเอาใจความไม่ค่อยจะได้ น่าเบื่อแก่การศึกษาในรูปแบบธรรมดา จึงถูกละเลยมองข้ามไปตลอดเวลา ทำให้จมนิ่งอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ, ทั้งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่ทรงประสงค์ให้สนใจศึกษาในฐานะเป็น จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ดังที่ปรากฏอยู่ที่หน้า๒๓๙ แห่งหนังสือเล่มนี้แล้ว

การทำหนังสือเล่มนี้ เป็นงานหนักเกินไปสำหรับข้าพเจ้าผู้อยู่ในวัยชรา ที่จะทำตามลำพังผู้เดียวได้ แต่ก็ทำสำเร็จไปด้วยความช่วยเหลือร่วมมือของเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในวัยหนุ่มช่วยเปิดสำรวจหน้าพระไตรปิฎกอย่างทั่วถึง เพื่อรวบรวมเอาข้อความที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มา ให้ข้าพเจ้าคัดเลือก ร้อยกรองและปรับปรุงสำนวนคำแปล เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ดังที่เห็นอยู่ในรูปแห่งหนังสือเล่มนี้ ท่านผู้ได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ จงได้อนุโมทนาและขอบคุณภิกษุผู้เหน็ดเหนื่อยเหล่านั้น โดยเฉพาะ ธมุมวิจิตโต ภิกขุ ซึ่งได้ช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่ง การทำสารบัญ แลละปทานุกรม ท้ายเล่ม ด้วยเพื่อร่วมงานอีกบางคน ในหน้าที่ดีพิมพ์ต้นฉบับ.

ข้าพเจ้ามีประณิธานอยู่ว่า ขอให้คำว่า “อิทัปปัจจยตา” และ “ปฏิจจสมุปบาท” ได้กลายมาเป็นคำที่ติดอยู่ที่ริมฝีปากของพุทธบริษัทฯ ในการพูดประจำวัน สมกับที่เรื่องนี้เป็นทั้งเนื้อตัวและหัวใจของพุทธศาสนา หรือเป็นองค์สมเด็จพระศาสนา ที่จะยังประทับอยู่กับพุทธบริษัททั้งหลาย หลังจากที่ทรงล่วงลับไปแล้วโดยพระวรกาย, ตลอดกาลนาน.

อ.ป. ในนามกองตำราแห่งคณะธรรมทาน โมกขพลาราม, ไชยา ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๑


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ