[Font : 15 ]
| |
สัตว์โลกจะรู้จักพระรัตนตรัยถึงที่สุด ก็ต่อเมื่อรู้ผลแห่งความสิ้นอาสวะของตนเองแล้วเท่านั้น |  

พราหมณ์ ! เปรียบเหมือนนักแสวงหาช้างป่า เข้าไปในป่าที่มีช้าง เห็นรอยเท้าช้างรอยใหญ่ ทั้งโดยส่วนยาวและส่วนกว้าง; เมื่อเป็นนักแสวงหาช้างที่ฉลาดก็จะยังไม่ลงสันนิษฐานว่า "พ่อคุณเอ๋ย ! ช้างมหานาคหนอ" ดังนี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? พราหมณ์! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า พวกช้างพังชื่อวามนิกาซึ่งมีรอยเท้าใหญ่ ก็มีอยู่ในป่าช้าง, มันจะเป็นรอยเท้าแห่งช้างพังพวกนั้นก็ได้.

เขาเดินตามรอยนั้นไป ก็เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ทั้งโดยส่วนยาวและส่วนกว้างเข้าอีก และทั้งยังเห็นรอยที่ช้างสีตัว อยู่ในที่สูง; เมื่อเป็นนักแสวงหาช้างที่ฉลาด ก็จะยังไม่ลงสันนิษฐานอีก ว่า "พ่อคุณเอ๋ย ! ช้างมหานาคหนอ" ดังนี้.ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? พราหมณ์! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า พวกช้างพังชื่ออุจจากฬาริกาซึ่งมีรอยเท้าใหญ่ ก็มีอยู่ในป่าช้าง, มันจะเป็นรอยเท้าแห่งช้างพังพวกนั้นก็ได้.

เขาเดินตามรอยนั้นไป ก็เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ทั้งโดยส่วนยาวและส่วนกว้าง และเห็นรอยที่ช้างสีตัวอยู่ในที่สูงเข้าอีก และทั้งยังเห็นรอยที่งาของมันแซะเปลือกไม้อยู่ในที่สูงด้วย; เมื่อเป็นนักแสวงหาช้างที่ฉลาด ก็จะยังไม่ลงสันนิษฐานอีกว่า "พ่อคุณเอ๋ย! ช้างมหานาคหนอ" ดังนี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? พราหมณ์ ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า พวกช้างพังชื่ออุจจากเณรุกาซึ่งมีรอยเท้าใหญ่ ก็มีอยู่ในป่าช้าง, มันจะเป็นรอยเท้าแห่งช้างพังพวกนั้นก็ได้.

เขาเดินตามรอยนั้นไป ก็เห็นรอยเท้าช้างใหญ่ ทั้งโดยส่วนยาวและส่วนกว้าง และเห็นรอยที่ช้างสีตัวอยู่ในที่สูงเข้าอีก และเห็นรอยที่งาของมันแซะเปลือกไม้อยู่ในที่สูง และทั้งยังเห็นรอยหักของกิ่งไม้ อยู่ในที่สูง; และเขาได้เห็นตัวช้างนั้นอยู่ที่โคนต้นไม่ หรืออยู่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ คุกอยู่ หรือนอนอยู่, เขาจึงถึงความแน่ใจว่า "นี่เองช้างมหานาคตัวนั้น" ดังนี้. ข้อนี้ฉันใด;

พราหมณ์! ข้อนี้ก็ฉันนั้น; ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง...ฯลฯ... จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์...ฯลฯ... แสดงธรรม...ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

ลำดับนั้น คหบดี หรือคหบดีบุตรฟังธรรมนั้นแล้ว...ฯลฯ... มีศรัทธาออกบวชจากเรือน. ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุ ท. ...มาตามพร้อมแล้วด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริย.ด้วยอินทรียสังวร อันเป็นอริยะ...ด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะ เสพคบเสนาสนะอันสงัด... กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตแล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ...ชำระจิตจากนิวรณ์.

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ทั้ง 5 เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว ก็สงัดแล้วจากกาม จากอกุศลธรรม ท. เข้าถึงปฐมฌาณ อันมีวิตกและวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ : พราหมณ์ !นี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า "รอยแห่งตถาคต" บ้าง, ว่า "รอยสีตัวแห่งตถาคต" บ้าง,ว่า "รอยแซะงาแห่งตถาคต" บ้าง; แต่ภิกษุผู้อริยสาวกนั้น ก็จะยังไม่ถึงความแน่ใจว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ, พระธรรม เป็นสวากขาตะ, สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ" ดังนี้ก่อน.

พราหมณ์ ! ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุ ...เข้าถึง ทุติยฌาน แล้วแลอยู่...ฯลฯ...; (เข้าถึงตติยฌาณ แล้วแลอยู่...ฯลฯ...; ...เข้าถึง จตุตถฌาณ แล้วแลอยู่:พราหมณ์! นี้แหละ (แต่ละอย่างๆ) คือสิ่งที่เรียกว่า "รอยแห่งตถาคต" บ้าง, ว่า"รอยสีตัวแห่งตถาคต" บ้าง, ว่า "รอยแซะงาแห่งตถาคต" บ้าง; แต่ภิกษุผู้อริยสาวกนั้น ก็จะ ยังไม่ถึงความแน่ใจว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ, พระธรรมเป็นสวากขตะ, สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นสุปฏิปันนะ" ดังนี้ก่อน. (รายละเอียดของ ทุติย-ตติย-จตุตถฌาน ตลอดถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณดูได้ที่หน้า 115-116 แห่งหนังสือเล่มนี้).

ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ขาวผ่อง ...น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ...ฯลฯ ย่อมระลึกถึงขันธ์อันตนเคยอยู่อาศัยในภพก่อนมีอย่างต่างๆ ได้ ...ฯลฯ...;... น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ ...ฯลฯ...;...น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ ...รู้ชัดอยู่ตามที่เป็นจริงว่า "นี้ คือ อาสวะ, นี้เหตุให้เกิดขึ้นแห่งอาสวะ, นี้ ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ" ดังนี้ : พราหมณ์! แม้นี้ (แต่ละอย่างๆ) ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "รอยแห่งตถาคต" บ้าง, ว่า "รอยสีตัวแห่งตถาคต" บ้าง, ว่า "รอยแซะงาแห่งตถาคต" บ้าง;แต่แม้กระนั้น ภิกษุผู้อริยสาวกนั้นก็ ยังไม่ถึงแล้วซึ่งความแน่ใจว่า "พระผู้มีพระภาคเป็นสัมมาสัมพุทธะ, พระธรรม เป็นสวากขาตะ, สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคเป็นสุปฏิปันนะ" ดังนี้ก่อน อยู่นั่นเอง. ก็แต่ว่า บัดนี้ภิกษุผู้อริยสาวกนั้นกำลังจะถึงอยู่ซึ่งความแน่ใจว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ, พระธรรม เป็นสวากขาตะ, สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคเป็นสุปฏิปันนะ" ดังนี้.

เมื่อภิกษุผู้อริยสาวกนั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ (ด้วยอาสวักขยญาณจนกระทั่ง) จิตหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่า "หลุดพ้นแล้ว" ดังนี้; ย่อมรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว,พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้กระทำสำเร็จแล้ว, กิจอื่นที่ต้องกระทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก" ดังนี้. พราหมณ์! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุผู้อริยสาวกนั้น ย่อมเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความแน่ใจ ว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธะ, พระธรรม เป็นสวากขาตะ, สาวกสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคเป็นสุปฏิปันนะ" ดังนี้.

พราหมณ์ ! เรื่องแห่งการอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง ย่อมบริบูรณ์โดยพิสดาร อย่างนี้แล.

หมายเหตุ : พระบาลีข้างบนนี้ ควรจะเป็นที่สังเกตอย่างยิ่ง ว่าแม้แต่คุณของพระรัตนตรัยที่บุคคลจะรู้แจ้งแทงตลอดถึงที่สุดนั้น จะมีก็ต่อเมื่อตนเองเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น; ผิดจากที่เราเคยเข้าใจกันอยู่ทั่วๆ ไป. ข้อนี้เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่ซึมซาบในคุณของความสิ้นอาสวะ หรือของนิพพาน ก็จะยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งคุณของผู้ตรัสรู้นิพพานแล้วนำมาสอน อย่างถึงที่สุด เลยเป็นเหตุให้ไม่รู้จักพระธรรม และพระสงฆ์อย่างถึงที่สุด เช่นเดียวกัน. -ผู้รวบรวม.

- บาลี จูฬหัตถิปโทปมสูตร มู.ม. 12/340/332. ตรัสแก่ชาณุสโสณีพราหมณ์ ที่เชตวัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง