[Font : 15 ]
| |
อัตตา

1. พยัญชนะ : อัตตาโดยพยัญชนะ : คือ ตน.

2. อรรถะ : อัตตาโดยอรรถะ : คือ ความรู้สึกโดยสัญชาตญาณว่าเป็นตัวกู “ผู้” ที่ จะกระทำกิริยาอาการทุกอย่างที่จะพึงกระทำได้; เช่น การกิน, การนอน, การไป, การมา, การอยู่, การตาย ฯลฯ

3. ไวพจน์ : อัตตาโดยไวพจน์ : คือ เจตภูต, ชีโว, บุรุษ, บุคคล, อาตมัน ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : อัตตาโดยองค์ประกอบ :

1. ธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปก็ได้ นามก็ได้ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกว่าตัวตน.

2. ความเข้าใจผิดหรือความหลงผิด อันเกิดมาจากอวิชชาอุปาทาน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวตน.

3. สัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งจะต้องเกิดความรู้สึกว่าตัวตนอยู่เองเป็นธรรมดา; มาประกอบกันเข้ากับความเห็นผิด ที่ทำให้เกิดอุปาทานว่าตัวตน.

สรุปความว่า ตัวตนโดยสัญชาตญาณก็มี ตัวตนของมิจฉาทิฏฐิที่เกิดจากอวิชชาในตอนหลังนี้ ก็มี.

5. ลักษณะ : อัตตาโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 มิใช่ตัวตน แต่ถูกสำคัญว่าเป็นตัวตน.

5.2 หลอนหลอกให้เข้าใจว่าเป็นตัวตน.

5.3 ที่ชวนให้เกิดความรู้สึกเห็นแก่ตน ; ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสทั้งหลาย.

6. อาการ : อัตตาโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 ยึดเอาสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องว่าเป็นของตน (อัตตนียา).

6.2 แห่งความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน (อหังการ) บ้าง ; ว่าเป็นของตน (มมังการ) บ้าง.

7. ประเภท : อัตตาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโตยประเภทหนึ่ง : อัตตาในภาษาพูด : หมายถึง ความเป็นชิ้นเป็นอันที่ถือเอาเป็นประโยชน์ได้ ไม่เหลวแหลก.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. อัตตาของสัญชาตญาณ.

2. อัตตาของมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ.

3. อัตตาของอุปาทาน เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน.

8. กฎเกณฑ์ : อัตตาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 เกิดจากอวิชชาอุปาทานเป็นคราวๆ ของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด.

8.2 เกิดแล้วก็เกิดความเห็นแก่ตัว อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลาย.

8.3 เกิดเป็นอัตตาหรืออัตตนียาก็ตามในสิ่งใด ; ย่อมเกิดภาระหนักแก่จิตใจในสิ่งนั้น.

8.4 การหมดความยึดมั่นว่าอัตตา เป็นความหลุดพ้นของจิต เรียกว่า จุดหมายปลายทางแห่งพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา.

9. สัจจะ : อัตตาโดยสัจจะ :

9.1 ความรู้สึกว่าอัตตา (ตัวตน) เป็นความรู้สึกที่ต้องมีและได้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ.

9.2 ความรู้สึกว่าตัวตนนี้มีอยู่ตามธรรมชาติแล้วส่วนหนึ่ง ; แต่ก็ได้รับการเน้นความหมายนี้ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยอำนาจของอวิชชาอุปาทาน; ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังนี้อีกส่วนหนึ่ง ; รวมเข้าด้วยกันทั้งสองส่วน จึงมีความหมายหนักแน่นถึงที่สุด เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง.

9.3 ความรู้สึกว่าตัวตนโดยธรรมชาติแห่งสัญชาตญาณ หรือความรู้สึกที่เพิ่มขึ้นใหม่ด้วยอวิชชาอุปาทานก็ดี; เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและจริงสำหรับจะเป็นทุกข์.

9.4 สิ่งที่เรียกกันว่าตัวตนนั้นเป็นเพียงความรู้สึกไปตามอำนาจของอวิชชามิได้เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง ; จึงเป็นตัวตนที่เป็นเพียงมายา มิว่าจะโดยสัญชาตญาณ หรือโดยความรู้สึกคิดนึกเฉพาะเรื่อง.

9.5 เมื่อตัวตนเป็นผลิตผลของอวิชชา จึงมีการเกิด - ดับไปตามอำนาจของอวิชชา ; หามีความจีรังยั่งยืนในตัวมันเองแต่อย่างใดไม่.

9.6 ความไม่จริงของสิ่งที่ไม่จริง ก็เป็นความจริงของสิ่งนั้น คือมีความจริงของสิ่งที่มิใช่ความจริง, สิ่งที่เรียกว่า “อัตตา” ก็มีความจริงในลักษณะอย่างนี้.

9.7 มนุษย์รู้ความจริงของอัตตา เพียงเพื่อกำจัดความรู้สึกว่า “อัตตา” เสียได้ ก็พอแล้ว.

10. หน้าที่ : อัตตาโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : หน้าที่ (โดยสมมติ) ของอัตตา : คือ เป็นฐานรองรับแห่งความมีชีวิตโดยสัญชาตญาณ.

นัยที่ 2 : หน้าที่ของมนุษย์ผู้หวังความดับทุกข์ต่ออัตตา : คือ การพยายามกระทำมิให้มีความรู้สึกว่า “อัตตา”; แม้ปากยังมีความจำเป็นจะต้องพูดว่า “ตัวฉัน - ของฉัน”.

11. อุปมา : อัตตาโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 สัตว์ที่กัดเจ้าของ.

11.2 ก้อนหินหนัก.

11.3 หญิงแพศยา.

11.4 งูที่ถูกเห็นเป็นปลา.

12. สมุทัย : อัตตาโดยสมุทัย :

12.1 เกิดจากความรู้สึกของสัญชาตญาณตามธรรมชาติ.

12.2 มาจากตัณหา, มิจฉาทิฏฐิ, อุปาทาน ซึ่งล้วนแต่มีจุดตั้งต้นที่อวิชชา.

12.3 การอบรมสั่งสอนให้มีความเชื่อว่ามีอัตตา.

13. อัตถังคมะ : อัตตาโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขตธรรมหรือสังขารธรรมทั้งหลาย.

13.2 เมื่อสติมาทันในขณะที่จะเกิดตัณหาอุปาทาน.

13.3 เมื่อปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในกรณีนั้นๆ.

14. อัสสาทะ : อัตตาโดยอัสสาทะ :

14.1 ไม่มีความรักอันใดเสมอด้วยความรักตน.

14.2 ความรักตน, เมาตน, หลงตน, บ้าตน, ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความสำเร็จแก่ตน ; ทั้งที่เป็นไปในอดีตและจักมีในอนาคต.

14.3 ความพอใจที่เกิดแก่ตนทุกชนิด ทุกระดับ ทุกความหมาย

15. อาทีนวะ : อัตตาโดยอาทีนวะ :

15.1 เป็นบ่อเกิดแห่งความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกิเลสและความทุกข์ หรือปัญหาทุกชนิด.

15.2 เป็นบ่อเกิดแห่งอหังการมมังการมานานุสัย (ความสำคัญว่า ตัวกู-ของกู ที่จะเกิดขึ้นจนกลายเป็นนิสัย); ซึ่งจะตัดได้ก็ด้วยอรหัตตมรรคญาณเท่านั้น.

16. นิสสรณะ : อัตตาโดยนิสสรณะ : หนทางออกจากอัตตา :

16.1 ศีล สมาธิ, ปัญญา, หรืออริยมรรคมีองค์แปด.

16.2 การเห็นไตรลักษณ์อย่างถูกต้องชัดแจ้งเพียงพออยู่เป็นประจำ.

16.3 อนัตตานุปัสสนาญาณแม้เพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอที่จะเป็นการออกจากอัตตา.

17. ทางปฏิบัติ : อัตตาโดยทางปฏิบัติ : ต่อสิ่งที่เรียกว่าตัวตน :

17.1 รู้จักปฏิจจสมุปบาทของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ว่าเกิด - ดับอย่างไร.

17.2 ป้องกันไม่ให้ตัวตนเกิด คือ มีสติในขณะแห่งผัสสะและเวทนา.

17.3 ดับตัวตนที่กำลังเกิดอยู่ด้วยอำนาจของปัญญา คือ อนัตตานุปัสสนา ; มีกำลังของสมาธิ หนุนกำลังของปัญญาให้ถึงที่สุด.

18. อานิสงส์ : อัตตาโดยอานิสงส์ :

18.1 มีเฉพาะอัตตาที่ฝึกดีแล้ว : จนกระทั่งหมดความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ซึ่งจัดเป็นอานิสงส์สูงสุด.

18.2 ส่วนอัตตาตามสัญชาตญาณ : มีอานิสงส์เป็นเพียงที่ตั้งแห่งการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ; ซึ่งถ้าควบคุมไม่ได้ก็กลายเป็นอัตตา อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ; ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝน ตามหลักเกณฑ์ของธรรมต่อไปอีกนั่นเอง.

สรุปความว่า : อัตตามีอานิสงส์เฉพาะแต่เมื่อไม่ถูกยึดถือว่าตัวตน เป็นเพียงที่ตั้งแห่งชีวิต ที่ตั้งแห่งการศึกษาฝึกฝนปฏิบัติธรรม จนหมดความรู้สึกว่าอัตตา.

19. หนทางถลำ : อัตตาโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีอัตตา :

19.1 ขาดสติในการรับอารมณ์.

19.2 ความไม่รู้เท่าทันโลกซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยวนหลอกลวง (โดยเฉพาะแห่งยุคปัจจุบัน).

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อัตตาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

นัยที่ 1 : ในการเกิดอัตตา : คือ การขาดสติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ.

นัยที่ 2 : ในการไม่เกิดอัตตา : คือ การมีสติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อัตตาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : ตัวตนตามความรู้สึกว่ามีอยู่เช่นนั้นจริงตามสัญชาตญาณ หรือตามความรู้สึกของผู้ไม่ รู้ธรรม.

ภาษาธรรม : ตัวตนของผู้รู้ธรรม คือ รู้ว่ามิใช่ตัวตนอันแท้จริง; เป็นเพียงความรู้สึกด้วยอำนาจของอวิชชา ; ซึ่งจะต้องทำลายให้หมดไป.

21.2 ภาษาคน : คือ งูที่ถูกเห็นเป็นปลา.

ภาษาธรรม : คือ งูที่เห็นเป็นงู.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม 1

2. ธรรมะกับสัญชาตญาณ

3. อะไรคืออะไร ?


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง