[Font : 15 ]
| |
ทรงเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สาวก ชั่วระยะจำเป็น |  

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนเด็กที่ยังอ่อน ยังได้แต่นอนหงาย เมื่อพี่เลี้ยงเผลอ ได้คว้าชิ้นไม้ หรือเศษกระเบื้องกลืนเข้าไป พี่เลี้ยงเห็นแล้วก็จะพยายามหาวิธีเอาออกโดยเร็ว, เมื่อเอาออกไม่ได้โดยง่าย ก็จะประคองศีรษะเด็กด้วยมือซ้าย งอนิ้วมือขวาล้วงลงไปเกี่ยวขึ้นมา แม้ว่าจะถึงโลหิตออกก็ต้องทำ, ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า? เพราะเหตุว่า แม้เด็กนั้น จะได้รับความเจ็บปวดก็จริง แต่พี่เลี้ยง ที่หวังการปลอดภัยแก่เด็ก หวังจะช่วยเหลือดเด็ก มีความเอ็นดูเด็ก ก็ต้องทำเช่นนั้น เพราะความเอ็นดูนั่นเอง. ครั้นเด็กนั้นเติบโตขึ้น มีความรู้เดียงสาพอควรแล้ว พี่เลี้ยงก็ปล่อยมือไม่จ้ำจี้จ้ำไชในเด็กนั้นเกินไป ด้วยคิดว่าบัดนี้เด็กนี้คุ้มครองตัวเองได้แล้ว ไม่อาจจะไร้เดียงสาอีกแล้ว ดังนี้, ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็เช่นนั้น : ตราบใดที่ภิกษุยังมิได้ทำกิจในกุศลธรรมทั้งหลายอันตนจะต้องทำด้วยศรัทธา ด้วยหิริ ด้วยโอตตัปปะ ด้วยวิริยะ และด้วยปัญญา, ตราบนั้น เรายังจะต้องตามคุ้มครองภิกษุนั้น. แต่เมื่อใดภิกษุนั้นได้ทำกิจในกุศลธรรมทั้งหลาย อันตนจะต้องทำด้วยศรัทธา ด้วยหิริ ด้วยโอตตัปปะ ด้วยวิริยะ ด้วยปัญญา สำเร็จแล้ว เราก็หมดห่วงในภิกษุนั้น โดยคิดว่า บัดนี้ภิกษุนี้คุ้มครองตนเองได้แล้ว ไม่อาจจะประพฤติหละหลวมอีกต่อไปแล้ว. ดังนี้.

- บาลี ปญฺจก. อํ. 22/6/7. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง