[Font : 15 ]
| |
จิต

1. พยัญชนะ : จิตโดยพยัญชนะ : คือ คิด, ก่อ, วิจิตร.

2. อรรถะ : จิตโดยอรรถะ : คือ เป็น ธาตุที่นึกคิดได้, รู้สึกอารมณ์ได้, สำหรับจะมาประกอบกันเข้ากับกาย ; แล้วเรียกว่า นามรูป.

3. ไวพจน์ : จิตโดยไวพจน์ : คือ มโน, วิญญาณ, หทัย , นาม ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : จิตโดยองค์ประกอบ : คือ จิตธาตุและเจตสิกA12 ซึ่งประกอบกันเป็นจิตดวงนั้น. ซึ่งประกอบกันเป็นจิตดวงนั้น.

5. ลักษณะ : จิตโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 เป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง.

5.2 เกิด - ดับ อยู่ตลอดเวลา.

5.3 ต้องประกอบด้วยเจตสิก.

5.4 เปลี่ยนไปตามเจตสิก.

5.5 ต้องอาศัยกาย.

5.6 ควบคุมยาก รักษายาก.

5.7 เที่ยวได้ไกล เร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ.

5.8 หน่วงเอาอารมณ์.

5.9 มักตกไปทางกาม.

6. อาการ : จิตโดยอาการ : เป็นไปตามอิทธิพลของสังขาร (สิ่งปรุงแต่ง).

7. ประเภท : จิตโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. จิตไม่มีอารมณ์ : ไม่รู้สึกนึกคิด ไม่ทำหน้าที่ใดๆ เช่น ภวังคจิต.

2. จิตมีอารมณ์ : มีความรู้สึกนึกคิด ทำหน้าที่ต่างๆ อยู่; ได้แก่ อาวัชชนจิตทั้งหลาย.

กลุ่มที่ 2 :

1. โลกิยจิต : จิตที่อยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งในลักษณะต่างๆ เกิดกิเลสได้.

2. โลกุตตรจิต : จิตที่อยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งไม่ได้ เกิดกิเลสไม่ได้.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. กุศลจิต : จิตเป็นกุศล.

2. อกุศลจิต : จิตเป็นอกุศล.

3. อพยากตจิต : จิตที่บัญญัติไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล.

8. กฏเกณฑ์ : จิตโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 จิตต้องร่วมกับกายในการทำหน้าที่จึงจะทำอะไรได้.

8.2 จิตต้องร่วมกับกายจึงจะมีสิ่งที่เรียกว่านามรูปหรือชีวิต.

8.3 จิตเกิด เมื่อจิตทำหน้าที่ตามที่ต้องทำ แม้ภวังคจิตก็ทำหน้าที่ เกิด - ดับ.

8.4 จิตที่ไม่ได้รับการอบรม มีแต่จะเป็นไปตามอำนาจของอวิชา.

9. สัจจะ : จิตโดยสัจจะ :

9.1 จิตเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง; หาได้เป็นตัวตน อัตตา หรือชีโว self หรือ soul อย่างใดอย่างหนึ่งไม่.

9.2 จิตเป็นธาตุรู้อยู่ในตัวของมันเอง คิดนึกรู้สึกอะไรได้โดยไม่ต้องมีหรือเป็นอัตตา.

9.3 จิตกับกายต้องทำหน้าที่ร่วมกันเสมอ ถ้าแยกกันเสียแล้วก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ได้ทั้งกายและจิต.

9.4 วิวัฒนาการของโลกเป็นไปตามอำนาจจิต.

9.5 จิตมีลักษณะอาการที่ชวนให้คิดว่ามันเป็นอัตตาหรือตัวตน.

9.6 จิตตามปกติย่อมมีเจตสิกอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบอยู่ด้วยเสมอ.

9.7 จิตล้วนๆ ที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกนั้นทำหน้าที่อะไรไม่ได้.

9.8 ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตนั้นประภัสสร เพิ่งเศร้าหมองเมื่อกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ.

9.9 จิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาถึงที่สุดแล้ว จะอยู่เหนือการปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง.

10. หน้าที่ : จิตโดยหน้าที่ :

10.1 จิตมีหน้าที่นำการกระทำทั้งทางกาย วาจา และจิตเอง.

10.2 จิตมีหน้าที่ควบคุมรักษาตนเอง.

11. อุปมา : จิตโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ช้างตกมัน บังคับยาก.

11.2 ลิง เคลื่อนไหวอยู่เรื่อย.

11.3 สิ่งกายสิทธิ์ที่รวดเร็ว รุนแรง กว้างขวาง ไปได้ทุกหนแห่ง.

11.4 ปลาชอบลงน้ำท่าเดียว (น้ำคือกามคุณ).

11.5 จิตมีอุปมาเหมือนเจ้าของร่างกาย.

12. สมุทัย : จิตโดยสมุทัย :

12.1 การถึงกันเข้าระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ; เกิดจิตในรูปแบบของวิญญาณ ยังไม่เป็นกุศลหรืออกุศล.

12.2 อวิชชาเป็นสมุทัยแห่งโลกิยจิตทั้งหลาย.

12.3 วิชชาเป็นสมุทัยแห่งโลกุตตรจิตทั้งหลายโดยปฏิปักขนัย.

12.4 สังขารที่มาจากการปรุงแต่งของอวิชา ปรุงแต่งวิญญาณธาตุตามธรรมชาติ ให้เป็นจิตหรือวิญญาณทางอายตนะ.

13. อัตถังคมะ : จิตโดยอัตถังคมะ :

13.1 การเสร็จหน้าที่ของจิตในกรณีหนึ่งๆ.

13.2 เมื่อหมดเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น.

14. อัสสาทะ : จิตโดยอัสสาทะ : คือ ลักษณะที่ดูเหมือนว่า มันจะสามารถอำนวยสิ่งที่เราต้องการให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง.

15. อาทีนวะ : จิตโดยอาทีนวะ : คือ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตนอย่างสูงสุด.

16. นิสสรณะ : จิตโดยนิสสรณะ : อุบายเป็นเครื่องออกมาเสียจากอำนาจของจิตในการชักพาไปให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะนั้น คือ อริยมรรคมีองค์ 8.

17. ทางปฏิบัติ : จิตโดยทางปฏิบัติ : ที่นำไปสู่จิตที่มีคุณค่าสูงสุด : คือ ระบบจิตตภาวนาที่ถูกต้อง ; หรืออีกนัยหนึ่ง คือ อริยมรรคมีองค์ 8.

18. อานิสงส์ : จิตโดยอานิสงส์ : คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิต ได้มีเครื่องมือและโอกาส ที่สามารถจะศึกษาและปฏิบัติ จนเข้า ถึงสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้.

19. หนทางถลำ : จิตโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่จิต : ไม่มี.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : จิตโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

1. กาย.

2. เจตสิก.

3. ความรู้ สติ ปัญญา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : จิตโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : จิตเป็นอัตตา.

ภาษาธรรม : จิตเป็นอนัตตา.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมสัจจสงเคราะห์

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. ฟ้าสางฯ ตอน 1, 2

4. โมกขธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง