[Font : 15 ]
| |
ครั้งมีพระชาติเป็น โชติปาลมาณพ |  

อานนท์! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า `ผู้อื่นต่างหาก ที่เป็นโชติปาลมาณพในสมัยโน้น'. อานนท์! เธอไม่ควรเห็นเช่นนั้น, เรานี่เองได้เป็นโชติปาลมาณพแล้วในสมัยนั้น......07.1

อานนท์ ครั้งดึกดำบรรพ์ พื้นที่ตรงนี้เป็นนิคมชื่อเวภฬิคะ มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนมากเกลื่อนกล่น. อานนท์! พระผู้มีพระภาค นามว่า กัสสปะทรงอาศัยอยู่ ณ นิคมเวภฬิคะนี้, ได้ยินว่า อารามของพระองค์อยู่ตรงนี้เอง,ท่านประทับนั่งกล่าวสอนหมู่สาวก ตรงนี้.

อานนท์! ในนิคมเวภฬิคะ มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เป็นอุปัฎฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคกัสสปะนั้น. ฆฏิการะมีสหายรักชื่อโชติปาละ. อานนท์!ครั้งนั้น ฆฏิการะเรียกโชติปาลมาณพผู้สหายมาแล้วกล่าวว่า "เพื่อนโชติปาละ!มา, เราไปด้วยกัน, เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปะ.การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี".

"อย่าเลย, เพื่อนฆฏิการะ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้น".

"เพื่อนโชติปาละ! ไปด้วยกันเถอะ, ฯลฯ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี".

"อย่าเลย, เพื่อฆฏิการะ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้น". (โต้กันดั่งนี้ถึง 3 ครั้ง).

"ถ้าเช่นนั้น เราเอาเครื่องขัดถูร่างกายไปอาบน้ำที่แม้น้ำกันเถอะ, เพื่อน!"

อานนท์! ครั้งนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้ถือเครื่องขัดสีตัวไปอาบน้ำที่แม่น้ำด้วยกันแล้ว, ฆฏิการะได้กล่าวกะโชติปาลมาณพอีกว่า "เพื่อนโชติปาละ! นี่เอง วิหารแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะอยู่ไม่ไกลเลย, ไปเถอะเพื่อ! เราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน, การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นบัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี".

"อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ! มีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้นนั้น". (โต้กันดังนี้อีกถึง 3 ครั้ง).

อานนท์! ฆฏิการะ ได้เหนี่ยวโชติปาลมาณพที่ชายพก แล้วกล่าวว่า"เพื่อโชติปาละ! ตรงนี้เอง วิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ไกลเลย.ไปเถอะเพื่อน, เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกัน, การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตลงเห็นพร้อมกันว่า ดี".

อานนท์! ครั้งนั้นโชติปาละ พยายามโดยวิธีที่ฆฏิการะต้องปล่อยชายพกนั้นได้แล้ว กล่าวว่า "อย่าเลยเพื่อน ฆฏิการะ! ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นสมณะหัวโล้น." อานนท์! ลำดับนั้น ฆฏิการะ เหลี่ยวโชติปาลมาณพผู้อาบน้ำสระเกล้าเรียบร้อยแล้ว เข้าที่มวยผมแล้ว กล่าวดั่งนั้นอีก.

อานนท์ โชติปาลมาณพ เกิดความคิดขึ้นภายในใจว่า "น่าอัศจรรย์หนอท่าน, ไม่เคยมีเลยท่าน, คือข้อที่ฆฏิการะช่างหม้อมีชาติอันต่ำ มาอาจเอื้อมจับเรา ที่มวยผมของเรา, เรื่องนี้เห็นจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้วหนอ." ดังนี้จึงกล่าวกะฆฏิการะช่างหม้อ :-

"เพื่อนฆฏิการะ! นี่จะเอาเป็นเอาตายกันเจียวหรือ?"

"เอาเป็นเอาตายกันทีเดียว, เพื่อนโชติปาละ! เพราะการเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการดีจริงๆ."

"เพื่อนฆฏิการะ! ถ้าเช่นนั้น ก็จงปล่อย เราจักไปด้วยกันละ".

อานนท์! ลำดับนั้น ฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกัสสปะถึงที่ประทับ. ฆฏิการะผู้เดียว ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร;ส่วนโชติปาลมาณพ ได้ทำความคุ้นเคยชื่นชมกับพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ นั่งอยู่แล้ว. ฆฏิการะได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะว่า "พระองค์ผู้เจริญ! นี่คือโชติปาลมาณพสหายรักของข้าพระพุทธเจ้า, ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมแก่เขาเถิด".

อานนท์! พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ได้ทำให้ฆฏิการะและโชติปาละเห็นจริง, ถือเอา, อาจหาญและร่าเริงเป็นอย่างดี ด้วยธรรมิกถาแล้ว. ทั้งสองคนเพลิดเพลินปราโมทย์ต่อภาษิตของพระองค์, บันเทิงจิต ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาททำประทักษิณ แล้วจึ่งหลีกไป.

อานนท์! ลำดับนั้น โชติปาลมาณพได้กล่าวถามกะฆฏิการะว่า"เพื่อฆฏิการะ! เพื่อนก็ฟังธรรมนี้อยู่ ทำไมจึงยังไม่บวชออกจากเรือน เป็นผู้ไม่หวังประโยชน์ด้วยเรือน เล่า?"

"เพื่อนไม่เห็นหรือ เพื่อนโชติปาละ! ฉันต้องเลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่และตาบอดอยู่".

"เพื่อนฆฏิการะ! ถ้าเช่นนั้น ฉันจักบวช ออกจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนละ".

อานนท์! ครั้งนั้น เขาทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกัสสปะอีก.ฆฏิการะกราบทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ! โชติปาละสหายรักของข้าพระพุทธเจ้านี่แลประสงค์จะบวช, ขอพระองค์จงให้เขาบวชเถิด".

อานนท์! โชติปาลมาณพ ได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักแห่งพระผู้มีพระภาคกัสสปะแล้ว, ราวกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคกัสสปะ ก็เสด็จจาริกไปยังเมืองพาราณสี. ...ฯลฯ...

อานนท์! ความคิดอาจมีแก่เธอว่า "คนอื่นต่างหากที่เป็นโชติปาลมาณพในสมัยโน้น". อานนท์! เธอไม่ควรคิดไปอย่างนั้น, เรานี่เอง, เป็นโชติปาลมาณพแล้ว ในสมัยโน้น.

- บาลี ฆฏิการสูตร ม.ม. 13/375/405. ตรัสแก่พระอานนท์ ที่รุกขมูลแห่งหนึ่งระหว่างการเดินทาง ในชนบทแห่งโกศล.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง