[Font : 15 ]
| |
ข้อปฏิบัติที่เป็นสักกายนิโรธคามินีปฏิปทา |  

ภิกษุ ท. ! สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดำเนินแห่งจิตให้ถึงซึ่งการดับไปแห่งสักกายะ) เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ อริยสาวกผู้มีการสดับ ได้เห็นพระอริยเจ้าฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ : -

ย่อม ไม่ตามเห็นซึ่งรูปโดยความเป็นตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีรูป หรือไม่ตามเห็นซึ่งรูปว่ามีอยู่ในตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีอยู่ในรูป บ้าง ;

ย่อม ไม่ตามเห็นซึ่งเวทนาโดยความเป็นตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีเวทนา หรือไม่ตามเห็นซึ่งเวทนาว่ามีอยู่ในตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีอยู่ในเวทนา บ้าง ;

ย่อม ไม่ตามเห็นซึ่งสัญญาโดยความเป็นตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีสัญญา หรือไม่ตามเห็นซึ่งสัญญาว่ามีอยู่ในตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีอยู่ในสัญญา บ้าง ;

ย่อม ไม่ตามเห็นซึ่งสังขารโดยความเป็นตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีสังขาร หรือไม่ตามเห็นซึ่งสังขารว่ามีอยู่ในตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีอยู่ในสังขาร บ้าง ;

ย่อม ไม่ตามเห็นซึ่งวิญญาณโดยความเป็นตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีวิญญาณ หรือไม่ตามเห็นซึ่งวิญญาณว่ามีอยู่ในตน หรือไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีอยู่ในวิญญาณ บ้าง.

ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้อธิบายว่า ข้อ (ที่กล่าวมาทั้งหมด) นั้น เรียกว่า การตามเห็นอันเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งการดับไปแห่งทุกข์ (ทุกฺขนิโรธคามินี สมนุปสฺสนา)

- ขนฺธ. สํ. 17/55/90.

(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ทุกขนิโรธคามินีสมนุปัสสนานั่นแหละ คือสักกายนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดำเนินแห่งจิตให้ถึงซึ่งการดับไปแห่งสักกายะ). คำว่า ปฏิปทา ในกรณีเช่นนี้ หมายถึงทางดำเนินแห่งจิต มิใช่การปฏิบัติด้วยเจตนา ; ได้แก่ความเห็นไม่ผิดเหล่านั้นนั่นเองเป็นตัวปฏิปทา.

ในบาลีแห่งอื่น (อุปริ. ม. 14/516/821) แทนที่จะยกเอาเบญจขันธ์มาเป็นวัตถุแห่งการเห็น แต่ได้ตรัสยกเอาอายตนิกธรรม 6 หมวด คือ อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 วิญญาณ 6 ผัสสะ 6 เวทนา 6 ตัณหา 6 มาเป็นวัตถุแห่งการตามเห็นเกี่ยวกับไม่มีตัวตน ; และทรงเรียกการตามเห็นนั้นว่า ทางดำเนินแห่งจิตให้ถึงซึ่งการดับไปแห่งสักกายะ อย่างเดียวกับสูตรข้างบน).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง