[Font : 15 ]
| |
ตถตา

1. พยัญชนะ : ตถตาโดยพยัญชนะ : คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง (ไม่อาจจะถูกปรุงแต่งหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น).

2. อรรถะ : ตถตาโดยอรรถะ : เช่นนั้น (ตถา); ความเป็นเช่นนั้น (ตถตา); ความไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น (อวิตถตา) ; ความไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น (อนัญญถตา).

3. ไวพจน์ : ตถตาโดยไวพจน์ : คือ ธัมมัฏฐิตตา (ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) ; ธัมมนิยามตา (ความมีกฏตายตัวเป็นธรรมดา) ; อิทัปปัจจยตา (ความที่ต้องเกิด-ดับ ตามปัจจัยของบรรดาสิ่งที่เป็นสังขตธรรม).

4. องค์ประกอบ : ตถตาโดยองค์ประกอบ : คือ ความไม่ต้องเกิด - ดับตามปัจจัยของพวกอสังขตธรรม; ความไม่เกิดขึ้น; ความไม่ตั้งอยู่, ความไม่ดับไป, ความเป็นอยู่ได้โดยตัวมันเอง.

5. ลักษณะ : ตถตาโดยลักษณะ :

5.1 มีลักษณะอย่างเดียวเฉพาะตน (ไม่ว่าจะเป็นสังขตะหรืออสังขตะ).

5.2 มีลักษณะที่เห็นแล้วให้เกิดความวางเฉย (อุเบกขา); ให้เกิดความไม่เปลี่ยนแปลงตามปัจจัย (อตัมมยตา) ; ให้เกิดความรู้สึกว่ายึดถือไม่ได้ (อนุปาทานิยะ).

6. อาการ : ตถตาโดยอาการ : คือ มีอาการคงที่.

7. ประเภท : ตถตาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

1. ตถตาของสังขตธรรม.

2. ตถตาของอสังขตธรรม.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. ตถตาที่เป็นเรื่องของการเล่าเรียน.

2. ตถตาที่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ.

3. ตถตาที่เป็นเรื่องของการได้รับผลการปฏิบัติแล้ว.

8. กฏเกณฑ์ : ตถตาโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 มีกฏเกณฑ์ว่าต้องเห็น "ตถตา" จึงจะมีการปล่อยวางหรือหลุดพ้น (ไม่ว่าสังขตะ หรืออสังขตะ).

8.2 ทุกอย่างต้องมี "ตถตา" ตามแบบของตน (ไม่ว่าจะเป็นสังขตะหรืออสังขตะ).

8.3 มีกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ในตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีใครบัญญัติขึ้น.

9. สัจจะ : ตถตาโดยสัจจะ :

9.1 สัจจะ คือความจริง, ความเที่ยงแท้, ความไม่เปลี่ยนแปลงมีอยู่ได้ในตัวมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับการที่พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ; ไม่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้า หรือเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ.

9.2 สัจจะของตถตามีอยู่ในทุกสิ่งที่เป็นกฏ : เช่น กฏสามัญลักษณะA24, อริยสัจจ์ หรือ ปฏิจจสมุปบาท ฯลฯ หรือแม้แต่กฏวิทยาศาสตร์.

9.3 ผู้เข้าถึงหรือเห็นตถตาโดยถูกต้องและสมบูรณ์ ย่อมเป็นตถาคต (พระอรหันต์).

10. หน้าที่ : ตถตาโดยหน้าที่ : หน้าที่ของบุคคลต่อตถตา :

10.1 บุคคลจะต้องรู้, ต้องเข้าใจ, ต้องปฏิบัติ, ต้องเห็นแจ่มแจ้งต่อตถตาของสิ่งที่ตนกำลังยึดมั่นถือมั่นอยู่จนปล่อยวางเสียได้.

10.2 ต้องมีการเห็น อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ฯลฯ กระทั่ง สุญญตา เป็นการนำไปสู่การเห็นตถตา.

10.3 บุคคลต้องมีสติในการเห็นตถตาทุกขณะที่มีการพูด, การทำ, การคิด และการเผชิญหน้ากับอารมณ์ ; เพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาในสิ่งใด.

10.4 ผู้ประสงค์จะอยู่เหนือความรู้สึกของความเป็นบวกเป็นลบทุกคู่ต้องมีสติปัญญาในการเห็นตถตาเพียงพอ.

11. อุปมา : ตถตาโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 พระเจ้าผู้มีอำนาจเฉียบขาดสูงสุด ที่สัตว์ทั้งหลายต้องปฏิบัติตาม.

11.2 เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ กันผี, กันความวิบัติฉิบหาย, กันความตาย ; เป็นผ้าเช็ดน้ำตาของคนมีความทุกข์ทุกชนิด.

11.3 ยารักษาโรคทางจิตทางวิญญาณ หรือโรคกิเลส อันอยู่เหนือวิสัย ที่หยูกยาธรรมดา จะรักษาได้ทุกชนิด.

11.4 เพชรที่ตัดสิ่งซึ่งสิ่งอื่นตัดไม่ได้ : เช่น ตัดกิเลส อนุสัยA25 เป็นต้น ; เพชรตัดได้ทุกสิ่ง แต่ไม่มีสิ่งใดตัดเพชรได้.

11.5 เครื่องป้องกันการสั่นสะเทือน ไม่ให้เกิดการหวั่นไหวใดๆ : แม้จากแรงกิเลสหรือแรงระเบิดปรมาณู.

11.6 เสาหินของธรรมชาติ ที่ปักลงไปแล้วไม่หวั่นไหว ด้วยแรงพายุชนิดใด ; หรือ แม้ด้วยแรงระเบิดที่ยิ่งกว่าปรมาณู.

12. สมุทัย : ตถตาโดยสมุทัย : แม้ไม่มีสมุทัยเพราะเป็นกฏอสังขตะ ; แต่ก็มีสิ่งหรือเครื่องมือที่ทำให้ตถตาปรากฏแก่จิต จนได้ประโยชน์แก่จิต.

13. อัตถังคมะ : ตถตาโดยอัตถังคมะ : ไม่มี เพราะเป็นกฏอสังขตะ.

14. อัสสาทะ : ตถตาโดยอัสสาทะ : ในตัวเองไม่มี แต่มีแก่จิตใจของผู้ยึดมั่นถือมั่นให้ตถตาเป็นอัตตานิรันดร.

15. อาทีนวะ : ตถตาโดยอาทีนวะ : ในตัวเองไม่มี ; แต่มีแก่จิตใจของผู้ยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชา ให้ตถตาเป็นอัตตานิรันดร.

16. นิสสรณะ : ตถตาโดยนิสสรณะ : ไม่มี เพราะไม่มีอะไรจะต้องออกจากตถตา. มีแต่อะไรที่จะต้องออกจากอวิชา เพื่อให้เข้าถึงตถตา.

17. ทางปฏิบัติ : ตถตาโดยทางปฏิบัติ : ไม่มีแก่ตถตา ; มีแต่ทางปฏิบัติของผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงตถตา :

17.1 อริยมรรคมีองค์ 8.

17.2 ความมีสติในขณะแห่งผัสสะหรือเวทนา.

17.3 โดยการทำธัมมสมาธิ คือมีตถตาหรือนิพพานเป็นอารมณ์.

18. อานิสงส์ : ตถตาโดยอานิสงส์ :

18.1 ทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นของแปลกหรืออัศจรรย์.

18.2 ไม่หลงไปยึดอะไรๆ ให้เป็นตัวตนแม้แต่ตัวตถตาเอง.

18.3 ทำให้เป็นตถาคต (พระอรหันต์).

18.4 ถ้ามีตถตาในการทำหน้าที่การงาน จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความผิดหวัง ; มีแต่ประโยชน์ และความสนุกสนาน.

19. หนทางถลำ : ตถตาโดยหนทางถลำ : ทางถลำไปสู่การเห็นตถตา : มีได้แม้โดยเหตุบังเอิญ ที่เข้ามากระทบจิต ; จนทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสุข, ความพอใจ ที่มีอยู่เป็นประจำ อันนำมาซึ่งความรู้สึกอึดอัดและรบกวน.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ตถตาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ในการเข้าถึงตถตา : ไม่ในฝ่ายตถตา ; แต่มีในฝ่ายผู้ที่ต้องการจะรู้และเข้าถึงตถตา ; ด้วยการศึกษาเล่าเรียน (พหุสฺสุต) และการทำในใจโดยแยบคาย ในเรื่องความจริงของสิ่งทั้งปวง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ตถตาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : ไม่มีความหมายอะไรเหมือนพูดเล่น.

ภาษาธรรม : มีความจริงสูงสุด ทำให้บุคคลเป็นพระอรหันต์.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ฟ้าสางฯ ตอน 1,2

2. สมถวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู

3. อิทัปปัจจยตา


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง