[Font : 15 ]
| |
การปฏิบัติเพื่อความสมดุลย์ของสมถะและวิปัสสนา |  

ภิกษุ ท.! ในบรรดาบุคคลสี่จำพวกนั้น 1. บุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ! เราควรเห็นสังขารกันอย่างไร ? ควรพิจารณาสังขารกันอย่างไร ? ควรเห็นแจ้งสังขารกันอย่างไร ? ดังนี้. ผู้ถูกถามนั้น จะพยากรณ์ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้น ว่า “ท่านผู้มีอายุ ! สังขารควรเห็นกันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.

2. ภิกษุ ท.! บุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ (สณฺฐเปตพฺพ) อย่างไร ? ควรถูกชักนำไป (สนฺนิยาเทตพฺพ) อย่างไร ? ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว (เอโกทิกตฺตพฺพ) อย่างไร ? ควรทำให้ตั้งมั่น (สมาทหาตพฺพ) อย่างไร?” ดังนี้. ผู้ถูกถามนั้น จะพยากรณ์ ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้น ว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอาการอย่างไรนี้ ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ได้ทั้งอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาและเจโตสมถะในภายใน.

3. ภิกษุ ท.! บุคคลผู้ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้อย่างไร ? ควรถูกชักนำไปอย่างไร ? ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียวอย่างไร ? ควรทำให้ตั้งมั่นอย่างไร? สังขารเป็นสิ่งที่ควรเห็นอย่างไร ? ควรพิจารณาอย่างไร ? ควรเห็นแจ้งอย่างไร ? ดังนี้. ผู้ถูกถามนั้นจะพยากรณ์ ตามที่ตนเห็นแล้วแจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้น ว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอาการอย่างไรนี้ ๆ; สังขารเป็นสิ่งที่ควรเห็นกันอย่างนี้ ๆ, ควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ, ควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้น ก็จะเป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.

4. ภิกษุ ท.! บุคคลผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงดำรงตนไว้ในธรรมทั้งสองนั้น แล้วประกอบความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป.

ภิกษุ ท.! บุคคล 4 จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.

- จตุกฺก. อํ. 21/122 - 124/94.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง