[Font : 15 ]
| |
หลักสำคัญสำหรับผู้หลีกออกเจริญสติปัฏฐานอยู่ผู้เดียว |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมนั้นโดยย่อ อันเป็นธรรมที่เมื่อข้าพระองค์ฟังแล้ว จะเป็นผู้ผู้เดียวหลีกออกไปสู่ที่สงัด เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรมเบื้องบน แล้วแลอยู่เถิด พระเจ้าข้า !”

ก็เรื่องอย่างเดียวกันนี่แหละ โมฆบุรุษบางพวกขอร้องให้เรากล่าวธรรมอย่างที่เธอถาม ครั้นเรากล่าวธรรมนั้นแล้วเขาก็ยังสำคัญแต่ในอันที่จะติดตามเราเท่านั้น (ไม่สนใจที่จะหลีกออกอยู่ปฏิบัติผู้เดียว).

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะเข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเป็นทายาท (ผู้รับมรดกธรรม) แห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น”.

ภิกษุ ! ถ้าอย่างนั้น ในกรณีนี้ เธอจงชำระธรรมอันเป็นเบื้องต้นอย่างยิ่งในบรรดากุศลธรรมทั้งหลาย. ก็อะไรเล่าเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ? ธรรมอันเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายคือ ศีลอันบริสุทธิ์หมดจด 1, ทิฏฐิอันเป็นไปตรง 1. ภิกษุ ! เมื่อศีลของเธอบริสุทธิ์หมดจด ทิฏฐิของเธอไปตรงแล้ว, เธอจงอาศัยศีลตั้งอยู่ในศีล แล้วจง เจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ โดย วิธีทั้ง 3 เถิด. เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 โดยวิธีทั้ง 3 นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ! ในกรณีนี้ เธอจงเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกาย อันเป็นภายใน อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่เถิด ; และจงเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกาย อันเป็นภายนอก อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่เถิด ; และจงเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกาย ทั้งภายในและภายนอก อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่เถิด.

(ในกรณีแห่งเวทนา จิต และธรรม ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน).

ภิกษุ ! เมื่อเธออาศัยศีลตั้งอยู่ในศีล แล้วเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 โดยวิธีทั้ง 3 อย่างนี้แล้ว ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น เป็นสิ่งที่เธอหวังได้ ตลอดคืนหรือวันอันจักมาถึง หาความเสื่อมมิได้เลย.

ภิกษุนั้น ยินดีรับพระพุทธภาษิต ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณหลีกไปแล้ว เป็นผู้ผู้เดียวหลีกออกไปสู่ที่สงัด ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรมเบื้องสูงอยู่ ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งได้ ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันไม่มีอะไรยิ่งกว่า ในทิฏฐธรรมนี้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วแลอยู่ อันเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์ของกุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน ดังนี้แล.

- มหาวาร. สํ. 19/192 - 193/686 – 690


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง