[Font : 15 ]
| |
(ก. ภาวะไม่บริสุทธิ์สำหรับเปรียบเทียบ) |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อมีการเกียดกันกิเลสด้วยตบะบริบูรณ์อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคยังจะกล่าวถึงอุปกิเลสมีอย่างต่าง ๆ แห่งการบำเพ็ญตบะนั้นอย่างไรอีกเล่า ?”

1. นิโครธ ! ในกรณีนี้ คือ ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขาเป็นผู้พอใจด้วยตบะนั้น ว่าบริบูรณ์แล้วตามประสงค์ (เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อตัวกู, มิใช่เพื่อธรรมะ). นิโครธ ! ข้อที่เขา พอใจด้วยตบะว่า บริบูรณ์แล้วตามประสงค์ นั้น แม้ข้อนี้ก็ยังเป็นอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ของผู้บำเพ็ญตบะ.

2. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น. นิโครธ ! ข้อที่เขา ยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะ นั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

3. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขาเมาตบะ หลงตบะ ถึงความมัวเมาด้วยตบะนั้น. นิโครธ ! ข้อที่เขา เมาตบะ หลงตบะ ถึงความมัวเมาด้วยตบะ นั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

4. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขาทำลาภสักการะและเสียงสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาพอใจด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญนั้น ว่าบริบูรณ์แล้วตามประสงค์. นิโครธ ! ข้อที่เขา พอใจด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญนั้น ว่าบริบูรณ์แล้วตามประสงค์ นั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

5. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขาทำลาภสักการะและเสียงสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญนั้น. นิโครธ ! ข้อที่เขา ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ นั้น แม้ข้อนี้ก็ยังอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

6. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขาทำลาภสักการะและเสียงสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเมาลาภ หลงลาภ ถึงความมัวเมาด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญนั้น. นิโครธ ! ข้อที่เขา เมาลาภ หลงลาภ ถึงความมัวเมาด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ นั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

7. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ เขา ถึงการแบ่งแยกในโภชนะ ทั้งหลายว่า “นี้ควรแก่เรา นี้ไม่ควรแก่เรา” ดังนี้. เขาไม่ชอบสิ่งใด เขาสะบัดหน้าไม่สนใจ ละมันไปเสีย ; เขาชอบสิ่งใด เขาก็จดจ่อมัวเมา หมายมั่นซึ่งสิ่งนั้น ไม่มองเห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องออก (จากอัสสาทะแห่งสิ่งนั้น) กินเอา ๆ. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

8. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ สมาทานตบะอยู่ ด้วยคิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ ทั้งหลายจักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่จะได้ลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

9. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ เที่ยวรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ใด ๆ ไม่ว่าในที่ไหน ๆ ว่า “อะไรกันนะ ท่านผู้นี้ มีอาชีพ (ดำรงชีพ) สำส่อน กินเสียหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชเกิดจากราก พืชเกิดจากข้อ พืชเกิดจากผล พืชเกิดจากยอด และพืชเกิดจากลำต้นเป็นที่ 5” ดังนี้ ด้วยวาทะย่ำยีสมณะราวกะว่ามีคมแห่งฟันดังสายฟ้า. นิโครธ ! การกระทำ แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

10. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์ใด ๆ ที่คนพากันสักการะอยู่ เคารพอยู่ นับถืออยู่ บูชาอยู่ ในตระกูลทั้งหลาย ก็ มีความคิดว่า “คนทั้งหลายพากันสักการะเคารพนับถือบูชาซึ่งสมณพราหมณ์นี้ผู้มีอาชีพสำส่อนอยู่ ในตระกูลทั้งหลาย แต่กลับไม่สักการะเคารพนับถือบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะ ดำรงชีวิตอยู่อย่างมี ลูข22.4ปฏิปทา อยู่ในตระกูลทั้งหลาย” ดังนี้ เขา เกิดมีความริษยาและตระหนี่ในตระกูลทั้งหลายขึ้นมา ด้วยอาการอย่างนี้. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

11. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ ชอบนั่งแสดงตัวตามทางที่คนผ่าน (เพื่ออวดคน). นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

12. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ ไม่เปิดเผยตน (ตามที่เป็นจริง) เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ประกาศอยู่ว่า “อย่างนี้ ๆ เป็นตบะของฉัน, มีในตบะของฉัน” ดังนี้ เป็นต้น. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

13. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ มีปกตินิสัยทำสิ่งไร ๆ ให้เป็นของปกปิด เมื่อถูกถามอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่ท่านไหม ก็ กล่าวสิ่งที่ไม่ควรว่าควร กล่าวสิ่งที่ควรว่าไม่ควร เป็นผู้กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ดังนี้. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

14. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรมอยู่, เขาไม่ยอมรับ (ว่าถูกว่าจริง) ต่อปริยายที่ควรยอมรับ (ว่าถูกว่าจริง) แม้มีอยู่แท้. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

15. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ เป็นคน ขี้โกรธ มักผูกโกรธ. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

16. นิโครธ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ผู้บำเพ็ญตบะ เป็นคน ลบหลู่คุณท่าน ตีตนเสมอท่าน เป็นคน ริษยา ตระหนี่ เป็นคน โอ้อวด มีมายา เป็นคน หัวดื้อ ดูหมิ่นท่าน เป็นคน ปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบอยู่ด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ เป็นคนลูบคลำสิ่งต่าง ๆ ตามทิฏฐิของตน ยึดถือไว้เหนียวแน่น สลัดคืนได้ยาก. นิโครธ ! แม้ข้อนี้ก็เป็นอุปกิเลสของผู้บำเพ็ญตบะ.

นิโครธ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : การเกียดกันกิเลสด้วยตบะในรูปแบบอย่างที่ว่ามานี้ (ทุกข้อ) เป็นอุปกิเลส หรือไม่เป็นอุปกิเลสเล่า ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! การเกียดกันกิเลสด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่แท้ ไม่เป็นอุปกิเลส หามิได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้เป็นฐานะที่มีอยู่ คือผู้บำเพ็ญตบะบางคนในกรณีนี้ ประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ครบทุกอย่างแล้ว ทำไมจะไม่ประกอบด้วยอุปกิเลสแต่ละอย่าง ๆ เล่า”.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง