[Font : 15 ]
| |
กรรม

๑. พยัญชนะ: (โดยตัวหนังสือ หรือคำแปลตามตัวหนังสือ)

กรรมโดยพยัญชนะ: คือ การกระทำ

๒. อรรถะ: (โดยความหมาย)

กรรมโดยอรรถะ คือ กระทำโดยเจตนา: เรียกว่า กรรม; มีผลเป็นวิบาก (ถ้ากระทำโดยไม่เจตนา: เรียกว่า กิริยา; มีผลเป็น ปฏิกิรายา).

๓. ไวพจน์: (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้ทั้งคำบาลีและคำภาษาไทย)

กรรมโดยไวพจน์ คือ กรณ, ปฏิบัติ, ปฏิปทา.

๔. องค์ประกอบ: (ปัจจัยที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง, และปัจจัยนั้นๆต้องทำงานร่วมกันและพร้อมกันในเรื่องเดียวกัน)

กรรมโดยองค์ประกอบ มีสาม

๑. เจตนาในการกระทำ (กิเลส).

๒. ความพยายามกระทำ (ปโยคะ).

๓. สำเร็จตามความพยายาม.

๕. ลักษณะ: (ลักษณะภายนอกที่เป็นเครื่องสังเกตหรือเครื่องกำหนดที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร จึงเรียกว่าอย่างนั้น)

กรรมโดยลักษณะ มีลักษณะ:

๕.๑ ตามเจตนาของการกระทำนั้นๆ.

๕.๒ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา, เหมือนสังขตธรรมA01ทั้งปวง.

๕.๓ เป็นเครื่องจำแนกสัตว์, ควบคุมสัตว์เหมือนเงาตามตัว.

๖. อาการ: (อาการเคลื่อนไหว หรือ แสดงความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยอาการ

๖.๑ มีการเกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป, และสิ้นสุดได้ เมื่อสิ้นปัจจัยคือ กิเลส. ถ้ายังมีกิเลสก็จะต้องเป็นไปตามอำนาจของกิเลส.

๖.๒ กรรมมีอาการเป็นไปตามกฎแห่งกรรม คือ ปฏิจจสมุปบาท; ทั้งในส่วนของผู้กระทำ หรือผู้รับผลแห่งการกระทำ.

๗. ประเภท: (การจำแนกให้เข้ากันเป็นพวกๆตามลักษณะอาการของสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยประเภท

๗.๑ แบ่งโดยประเภทสอง:

๑. กรรมขั้นศีลธรรม: เป็นไปเพื่อการเวียนว่ายในวัฎฎะ.

๒. กรรมขั้นปรมัตถธรรม: เป็นไปเพื่อการสิ้นสุดแห่งวัฏฏะ.

๗.๒ แบ่งโดยประเภทสาม:

กลุ่มที่หนึ่ง: บัญญัติตามลักษณะ:

๑. กรรมที่บัญญัติได้ว่าเป็น กุศล.

๒. กรรมที่บัญญัติได้ว่าเป็น อกุศล.

๓. กรรมที่บัญญัติไม่ได้ว่าเป็ฯ กุศล หรืออกุศล (อัพยากฤต).

กลุ่มที่สอง: บัญญัติตามที่เกิด:

๑. กายกรรม.

๒. วจีกรรม.

๓. มโนกรรม.

กลุ่มที่สาม: บัญญัติตามการกระทำ:

๑. สนับสนุนกรรมอื่น (ให้หนักขึ้น).

๒. บีบคั้นกรรมอื่น (ให้เบาลง).

๓. ตัดขาดกรรมอื่น (ให้เลิกกันไป).

๗.๓ แบ่งโดยประเภทสี่:

๑. กรรมดำ หรือกรรมชั่ว.

๒. กรรมขาว หรือกรรมดี.

๓. กรรมดำขาวเจือกัน คือการกระทำที่เจือกันทั้งชั่วและดี.

๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว คือเหนือชั่วเหนือดี เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย.

๘. กฏเกณฑ์: (กฏเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆหรือกฏเกณฑ์เพื่อจะเข้าไปถึงสิ่งนั้นๆซึ่งอาจมีได้ทั้งโดยบัญญัติและโดยธรรมชาติ)

กรรมโดยกฏเกณฑ์

๘.๑ กรรมมีกฏเกณฑ์ซึ่งสัตว์จะต้องเคารพเชื่อฟังในฐานะพระเจ้า.

๘.๒ กรรมต้องให้ผลอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับมีการเคาะที่ไหนย่อมต้องมีเสียงเกิดขึ้นที่นั่น.

๘.๓ สัตว์ต้องเป็นไปตามกรรมจนกว่าจะสิ้นกรรม คืออยู่เหนือกรรม.

๘.๔ กรรมต้อง ให้ผลทันทีที่มีการกระทำสำเร็จ.

๘.๕ แม้กรรมเก่าที่จะให้ผลเป็นทุกข์มีอยู่ แต่ถ้าประพฤติถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตา กรรมนั้นก็ไม่อาจจะให้ผล. ถ้ากระทำกรรมไม่ดำ ไม่ขาว ก็เป็นอันยกเลิกไป ทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่.

๘.๖ สุข-ทุกข์ ในปัจจุบัน มิใช่เป็นผลของกรรมเก่า; แต่เกิดจากกฏอิทัปปัจจยตาที่สัตว์กระทำถูกหรือกระทำผิด; คือเป็นฝ่ายนิโรธหรือฝ่ายสมุทัย.

๘.๗ กรรมและการให้ผลของกรรมที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นเรื่องของปัจจุบันธรรม และเป็นสันทิฏฐิโก.

๘.๘ ถ้ารักษาจิตไว้ได้ ก็จะไม่มีความผิดพลาดหรือปัญหาใดๆ เกี่ยวกับกรรม.

๘.๙ กรรมให้ผลทันทีเมื่อมีการกระทำเสร็จ เป็นผลของกรรมโดยตรง. ส่วนที่เป็นผลโดยอ้อม จะเป็นทางบวกหรือทางลบก็ตามนั้นไม่แน่; เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอย่างอื่นอีก จึงเรียกว่าผลโดยอ้อม.

๙. สัจจะ: (ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยสัจจะ

๙.๑ กรรมโดยหลักศีลธรรม: มีผู้กระทำ; โดยหลักแห่งปรมัตถธรรม: เป็นเพียงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา.

๙.๒ กรรมไม่ต้องรอผลของการกระทำ ทำดีก็เสร็จ ทำชั่วก็ชั่วเสร็จตั้งแต่เมือทำ. (ส่วนที่ต้องรอนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ)

๙.๓ ผลของกรรมที่จะติดตามมา ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเหมือนกับตัวกรรม; บางทีอาจจะเป็นตรงกันข้ามก็ได้ เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกแซงได้.

๙.๔ กรรม ผลกรรม ผู้ทำกรรม ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอยู่เสมอ; จึงจะหวังเอาตามใจไม่ได้.

๙.๕ กรรมและผลของกรรม แม้ในอัตภาพนี้ก็มีมากมายจนเหลือที่จะจัดการได้อยู่แล้ว; นับประสาอะไรจะไปพูดถึงชาติหน้า.

๙.๖ กรรมที่เป็นสังขารการปรุงแต่ง มีอยู่สามชนิด: คือ อบุญ (บาป), บุญ (บุญที่ยังหวั่นไหว), อเนญชา (บุญที่ไม่มีความหวั่นไหว).

๙.๗ ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้วต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น. แม้กรรมดีมีสุขก็ยังเป็นทุกข์อย่างดี หรือทุกข์อย่างคนมีความสุข; ต้องเหนือกรรมทั้งปวงจึงจะไม่มีทุกข์ แถมยังเหนือสุขอีกด้วย.

๙.๘ สิ้นกรรมไม่ได้หมายความว่าตาย; แต่หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม.

๙.๑๐ กรรมในขั้นปรมัตถธรรม ไม่มีผู้กระทำกรรมหรือการกระทำกรรม; มีแต่อาการแห่งปฏิจจสมุปบาท.

๑๐. หน้าที่: (การที่สิ่งมีชีวิตจะต้องกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยหน้าที่

๑๐.๑ กรรมทำหน้าที่จำแนกสัตว์ หรือปรุงแต่งสัตว์ ให้เป็นไปตามลักษณะของเหตุปัจจัย.

๑๐.๒ ยกเว้นกรรมไม่ดำไม่ขาวเสียแล้ว กรรมย่อมทำให้สัตว์ให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ.

๑๐.๓ กรรมก็ตาม กิริยาก็ตาม มีหน้าที่ให้เกิดวิบากและปฏิกิริยา.

๑๑. อุปมา: (การเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด)

กรรมโดยอุปมา

๑๑.๑ ลิ่มสลัก (สกรูนอต) ที่ตรึงสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏฏะ.

๑๑.๒ ยมบาล ผู้จัดการทุกอย่างอย่างถูกต้อง ทั้งแก่คนทำดีและคนทำชั่ว.

๑๑.๓ กรรมหรือกฎแห่งกรรม มีอุปมาเหมือนพระเป็นเจ้า: ให้รางวัลแก่คนทำถูก และลงโทษคนทำผิดอย่างไม่รับสินบน.

๑๒. สมุทัย: (สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยสมุทัย

๑๒.๑ สมุทัยแห่งกรรมมีสามระยะ: ๑. เวทนา (ความรู้สึก สุข-ทุกข์) ๒. ตัณหา (กิเลส) ๓. อุปาทาน (ความยึดมั่น) แล้วแต่จะก่อขึ้นในระยะใดระยะหนึ่งในสามระยะนี้. ทั้งสามระยะนี้มีอวิชาเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง.

๑๒.๒ ถ้ากล่าวอย่างสรุปสั้นที่สุด ความต้องการเป็นเหตุให้ทำกรรมตามชนิดของความต้องการ.

๑๓. อัตถังคมะ: (ความดับของสิ่งนั้นๆ; คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้ชั่วคราว หรือตลอดไปของสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยอัตถังคมะ

๑๓.๑ ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

๑๓.๒ เมื่อสิ้นความต้องการหรือตัณหา

๑๔. อัสสาทะ: (เสน่ห์หรือรสอร่อยที่ยั่วยวนของสิ่งนั้นๆซึ่งมีต่อมนุษย์)

กรรมโดยอัสสาทะ

๑๔.๑ คนย่อมทำกรรมตามพอใจของตนๆ จึงเป็นอัสสาทะแก่ผู้กระทำ ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว.

๑๔.๒ กรรมชั่วเป็นอัสสาทะของคนชั่ว; กรรมดีเป็นอัสสาทะของคนดี. (รวมไปถึงผลของกรรมด้วย).

๑๕. อาทีนวะ: (โทษหรือความเลวร้ายของสิ่งนั้นๆซึ่งซ่อนอยู่อย่างเห็นได้ยาก)

กรรมโดยอาทีนวะ คือ การทำให้ต้องเวียนว่ายไปตามกรรม ยกเว้น กรรมไม่ดำไม่ขาว ซึ่งไม่มีอาทีนวะ.

๑๖. นิสสรณะ: (อุบายหรือวิธีที่จะออกหรือพ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยนิสสรณะ

๑๖.๑ การดำเนินชีวิตตามอริยมรรคมีองค์แปด.

๑๖.๒ กรรมไม่ดำไม่ขาวหรือกรรมที่สี่ เป็นนิสสระณะของกรรมทั้งสามข้างต้น.

๑๖.๓ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร เป็นนิสสรณะของกรรม ทั้งชนิดชั่วคราวและเด็ดขาด.

๑๗. ทางปฏิบัติ: (ทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆเพื่อให้เกิดผลดีตามที่ประสงค์)

กรรมโดยทางปฏิบัติ

๑๗.๑ เพื่อเข้าสู่กรรมดี: คือ กุศลกรรมบถสิบA02.

๑๗.๒ เพื่อสิ้นกรรม: คือ การปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน; ว่าดี-ว่าชั่ว, ว่าสุข-ว่าทุกข์ ฯลฯ; เมื่อหมดตัวตนก็หมดกรรม.

๑ กุศลกรรมบถสิบ: ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางไปสู่สุคติ. (ดูรายละเอียดที่หมวดธรรม)

๑๘. อานิสงส์: (ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆ)

กรรมโดยอานิสงส์

๑๘.๑ กรรมดำ: นำไปสู่ทุคติ

๑๘.๒ กรรมขาว: นำไปสู่สุคติ

๑๘.๓ กรรมดำขาวเจือกัน: นำไปสู่ทั้งทุคติและสุคติ.

๑๘.๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว: นำไปสู่นิพพานหรือความสิ้นกรรม.

๑๙. หนทางถลำ: (การมีโอกาสหรือความบังเอิญที่ทำให้เกิดความง่ายแก่การปฏิบัติ หรือการทำหน้าที่ให้สำเร็จโดยง่ายยิ่งขึ้น; แต่ในบางกรณี ความบังเอิญนี้มีได้แม้ในฝ่ายลบที่ไม่พึงประสงค์)

กรรมโดยหนทางถลำ เข้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากรรม:

๑๙.๑ สู่กรรมดำ: คบคนพาล.

๑๙.๒ สู่กรรมขาว: คบบัณฑิต.

๑๙.๓ สู่กรรมไม่ดำไม่ขาว: คบพระอริยเจ้า.

๒๐. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: (ปัจจัยหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยให้การกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆเกิดความสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็วที่สุด)

กรรมโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง

๒๐.๑ เพื่อกรรมดี: สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ (สาสวสัมมาทิฏฐิ).

๒๐.๒ เพื่อสิ้นกรรม: สัมมาทิฏฐิที่ไม่มีอาสวะ (อนาสวสัมมาทิฏฐิ).

๒๑. ภาษาคน-ภาษาธรรม: (การพูดจาที่จะกล่าวถึงสิ่งใดๆนั้นมีทางพูดได้สองภาษาคือ ภาษาคนและภาษาธรรม (1) ภาษาคน หมายถึง ภาษาที่คนธรรมดาใช้พูด ซึ่งมักระบุไปยังบุคคลหรือวัตถุภายนอก ที่เรียกกันว่า บุคคลาธิษฐาน (2)ภาษาธรรม หมายถึง ภาษาที่ผู้รู้ธรรมพูด ซึ่งมักระบุไปยังคุณค่าหรือคุณสมบัติ โดยไม่เล็งถึงบุคคลหรือวัตถุ ที่เรียกกันว่า ธรรมาธิษฐาน)

กรรมโดยภาษาคน-ภาษาธรรม

๒๑.๑ ภาษาคน: ความตาย. ภาษาธรรม: การกระทำด้วยเจตนา.

๒๑.๒ ภาษาคน: ความชั่วร้ายไม่น่าปรารถนา. ภาษาธรรม: ทั้งความชั่วและความดี และเหนือชั่ว, เหนือดี.

๒๑.๓ ภาษาคน: มีความหมายเฉพาะในแง่ร้าย. ภาษาธรรม: มีความหมายในทุกแง่.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

๑. ตุลาริกธรรม เล่ม ๑

๒. ธรรมบรรยายระดับมหาวิทยาลัย เล่ม ๒

๓. ธรรมศาสตรา เล่ม ๑

๔. นวกานุสาสน์ เล่ม ๑

๕ อิทัปปัจจยตา

๖. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง