[Font : 15 ]
| |
นิพพาน

1. พยัญชนะ : นิพพานโดยพยัญชนะ : คือ ดับไม่เหลือ (แห่งความร้อน).

2. อรรถะ : นิพพานโดยอรรถะ :

2.1 การดับแห่งความร้อน คือกิเลส (Quenching of defilements).

2.2 ความเย็นที่เกิดจากความไม่มีไฟ คือกิเลส.

2.3 มีความหมายอย่างน้อย 4 ประการคือ : เป็นเครื่องดับ, แดนดับ, การดับ และเป็นความเย็นที่เป็นผลของการดับแห่งความร้อน.

2.4 ออกจากทุกข์ทั้งปวง.

3. ไวพจน์ : นิพพานโดยไวพจน์ : คือ อสังขตะ, สันติ อมตธรรม, วิสังขาร, เกวละ (ไกวัลย). วิโมกข, วิมุตติ, โมกขะ, นิโรธะ ฯลฯ, บรมธรรม ฯลฯ.

4. องค์ประกอบ : นิพพานโดยองค์ประกอบ : ไม่มี.

5. ลักษณะ : นิพพานโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการเกิดดับ.

5.2 อันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้.

5.3 ไม่มีปรากฏการณ์ (Noumenon).

6. อาการ : นิพพานโดยอาการ : ไม่มี.

7. ประเภท : นิพพานโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

1. สอุปาทิเสสนิพพาน : คือ หมดกิเลสสิ้นเชิง แต่ยังมีความรู้สึกว่าสุขว่าทุกข์ แต่ไม่เกิดตัวตน.

2. อนุปาทิเสสนิพพาน : คือ หมดกิเลสสิ้นเชิง เวทนาเย็นสนิท ไม่สุข ไม่ทุกข์.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม.

1. ตทังคนิพพานหรือสามายิกนิพพาน : จิตว่างจากกิเลสชั่วสมัยชั่วขณะหนึ่ง : เพราะความประจวบเหมาะของสิ่งนั้นๆ เช่น สถานที่ ธรรมชาติ เสวนากับสัตบุรุษ.

2. วิกขัมภนนิพพาน : คือ จิตว่างจากกิเลสโดยการบังคับจิตไว้ได้ด้วยการทำกัมมัฏฐานภาวนา โดยเฉพาะด้วยอำนาจของฌาน.

3. สมุจเฉทนิพพาน : คือ ความดับกิเลสสิ้นเชิง โดยการตัดรากเหง้าของกิเลส ด้วยอำนาจของวิปัสสนา (หมายถึงนิพพานโดยประเภทสองข้างต้น).

8. กฎเกณฑ์ : นิพพานโดยกฎเกณฑ์ : ของการถึงพระนิพพาน :

8.1 ต้องเป็นอสังขตะ, อกตะ, อกาลิกะ, สันทิฏฐิกะ, ปัจจัตตะ, เวทิตัพพะ ฯลฯ

8.2 เป็นการทำลายเบญจอุปาทานขันธ์A34 อย่างหมดเชื้อ.

8.3 เมื่อใดจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แม้เป็นเองโดยธรรมชาติ ; เมื่อนั้นมีนิพพานโดยปริยาย (โดยอ้อม) หรือตทังคนิพพานในทิฏฐธรรม (ที่เรียกกันว่าในชาตินี้).

8.4 ทุกคนรอดชีวิตอยู่ได้ไม่เป็นบ้าหรือตายในวันหนึ่งๆ เพราะอาศัยตทังคนิพพาน ; ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีอยู่เองตามธรรมชาติมากกว่าการเกิดของกิเลส.

8.5 พระนิพพานนั้นผู้ปฏิบัติต้องไม่อยากด้วยตัณหา ; ถ้ายิ่งอยากยิ่งไม่ได้ แต่ต้องประสงค์ด้วยสัมมาสังกัปปะ (ความใคร่ในใจที่ประกอบด้วยวิชชา).

9. สัจจะ : นิพพานโดยสัจจะ :

9.1 เป็นธรรมชาติที่สิ้นสุดแห่งการปรุงแต่ง.

9.2 กิเลสหรือสังสารวัฏฏ์ไม่ปรากฏที่ใด นิพพานปรากฏที่นั้น.

9.3 โดยปรมัตถโวหาร นิพพานนั้นหาพบได้ท่ามกลางวัฏฏสงสาร ; เช่นเดียวกับการดับไฟที่ไฟ การดับทุกข์ต้องมีที่ความทุกข์นั่นเอง.

9.4 นิพพานไม่ถึงได้ด้วยการไป การมา การติดอยู่กับที่ ; แต่ถึงได้ด้วยการทำให้ปรากฏแก่จิต คือการทำลายม่านแห่งอวิชชาที่หุ้มห่อจิต.

10. หน้าที่ : นิพพานโดยหน้าที่ : หน้าที่ของนิพพานไม่มี ; มีแต่หน้าที่ของสามัญสัตว์ ที่จะต้องทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.

11. อุปมา : นิพพานโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ฝั่งนอกของมหาสมุทร (ตรงข้ามจากฝั่งในที่เต็มไปด้วยความทุกข์).

11.2 เหนือโลก (ที่ปัญหาหรือความทุกข์ในโลกตามขึ้นไปไม่ถึง).

11.3 ตาณะ (ที่ต้านทาน) และเลณะ (ที่หลบซ่อน) ของสัตว์ทั้งหลายจากความทุกข์.

12. สมุทัย : นิพพานโดยสมุทัย : ไม่มี เพราะเป็นอสังขตธาตุ.

13. อัตถังคมะ : นิพพานโดยอัตถังคมะ : ไม่มี.

14. อัสสาทะ : นิพพานโดยอัสสาทะ : มีสำหรับผู้มีอุปาทาน.

15. อาทีนวะ : นิพพานโดยอาทีนวะ : ไม่มี

16. นิสสรณะ : นิพพานโดยนิสสรณะ : เพื่อออกจากนิพพาน : ไม่มี ; มีแต่นิสสรณะเพื่อออกจากโลก บรรลุนิพพาน.

17. ทางปฏิบัติ : นิพพานโดยทางปฏิบัติ : เพื่อเข้าถึงนิพพาน :

17.1 ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8.

17.2 การเป็นอยู่โดยชอบที่ตรัสว่า ทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์. (สเจเม ภิกฺขู สมฺมาวิหเรยฺยํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส).

17.3 อานาปานสติA35 ภาวนา 16 ขั้น (ตรัสไว้เอง).

17.4 การปฏิบัติที่ทำลายอัตตวาทุปาทานA36 ทุกรูปแบบ.

17.5 การควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้.

17.6 การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่นำไปสู่อตัมมยตา (ความเป็นพระอรหันต์).

18. อานิสงส์ : นิพพานโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์จากนิพพานไม่มี.

18.2 อานิสงส์ของการบรรลุนิพพาน :

1. การดับทุกข์สิ้นเชิง.

2. การพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย.

3. การพ้นจากการเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร.

4. การมีชีวิตที่อยู่เหนือปัญหาและความทุกข์โดยประการทั้งปวง.

19. หนทางถลำ : นิพพานโดยหนทางถลำ : เข้าไปมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่านิพพาน :

19.1 ความบังเอิญที่ได้สมาคมและฟังธรรมของสัตบุรุษ.

19.2 การถูกความทุกข์บีบคั้น ดิ้นรนไปจนถูกทาง.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : นิพพานโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ โพธิปักขิยธรรมทั้งหมด.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : นิพพานโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : โลกอื่นที่บรมสุข.

ภาษาธรรม : การสิ้นสุดแห่งสังสารวัฏฏ์ ; การสิ้นสุดแห่งกิเลส ; ว่างจากการปรุงแต่งทั้งปวง.

21.2 ภาษาคน : สิ่งที่ถึงได้ต่อเมื่อตายแล้ว.

ภาษาธรรม : เป็นสิ่งที่อาจถึงได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

21.3 ภาษาคน : การดับขันธ์ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์.

ภาษาธรรม : ความเย็นสนิทเพราะไม่มีไฟแห่งกิเลส.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ฆราวาสธรรม

2. ตุลาการิกธรรม เล่ม 1

3. เตกิจฉกธรรม

4. บรมธรรม ภาคต้น, ปลาย


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง