[Font : 15 ]
| |
ผู้อุภโตภาควิมุตต์โดยสมบูรณ์ |  

ผู้อุภโตภาควิมุต์โดยสมบูรณ์11.17

(ผู้อุภโตภาควิมุตต์ หมายความว่าผู้มีความคล่องแคล้วในวิโมกข์ 8 และหลุดพ้นแล้วด้วยเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้. สำหรับวิโมกข์ 8 มีรายละเอียดดับนี้คือ :-)

อานนท์ ! วิโมกข์ 8 เหล่านี้แล มีอยู่. 8 เหล่าไหนเล่า ? 8 คือ :-

(1) ผู้มีรูป (ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ) ย่อมเห็นรูปทั้งหลาย (อันเป็นสมาธินิมิตเหล่านั้น) นี้คือ วิโมกข์ที่ 1.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย)

(2) ผู้ไม่มีสัญาในรูปซึ่งเป็นภายใน (เพื่อเป็นอารมณ์ของสมาธิ) ย่อมเห็นรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอก (เพื่อเป็นอารมณ์ของสมาธิ) : นี้คือ วิโมกข์ที่ 2.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย).

(3) เป็นผู้น้อมใจ (ไปในรูปนิมิตแห่งสมาธิ) ด้วยความรู้สึกว่า "งาม" เท่านั้น : นี้คือ วิโมกข์ที่ 3.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรบกวนของความรู้สึกว่าเป็นปฏิกูลในสิ่งที่เป็นปฏิกูล)

(4) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญาทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาทั้งหลาย เป็นผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้ แล้วแลอยู่ : นี้คือ วิโมกข์ที่ 4.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของรูปสัญญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในรูปทั้งหลาย อันให้เกิดการกระทบกระทั่งกับสิ่งที่เป็นรูปนั่นเอง).

(5) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจาตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "วิญญาณไม่มีที่สุด" ดังนี้ แล้วแลอยู่ : นี้คือ วิโมกข์ที่ 5.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของอากาสานัญจายตนสัญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในอรูปประเภทแรกคืออากาสานัญจายตนะนั่นเอง).

(6) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อะไร ๆ ไม่มี" ดังนี้ แล้วแลอยู่ : นี้คือ วิโมกข์ที่ 6.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของวิญญาณัญจายตนสัญญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในอรูปประเภทที่สองคือวิญญาณัญจายตนะนั่นเอง).

(7) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่ : นี้คือ วิโมกข์ที่ 7.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของอากิญจัญญายตนะสัญญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในอรูปประเภทที่สามคืออากิญจัญญายตนะนั่นเอง).

(8) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่ : นี้คือ วิโมกข์ที่ 8.

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในอรูปประเภทที่สี่คือเนวสัญญานาสัญญายตนะนั่นเอง).

อานนท์ ! เหล่านี้แล วิโมกข์ 8.

อานนท์ ! ในกาลใดแล ภิกษุ เข้าสู่วิโมกข์ 8 เหล่านี้ โดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้างทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง ออกบ้าง ได้ตามที่ที่ต้องการ ตามสิ่งที่ต้องการ ตามเวลาที่ต้องการ ; กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. อานนท์ ! ภิกษุนั้นแล ชื่อว่า อุภโตภาควิมุตต์ (ผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนสอง).

อานนท์ ! อุภโตภาควิมุตติอื่นที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าอุภโตภาควิมุตตินี้ ย่อมไม่มี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง