[Font : 15 ]
| |
เสด็จเมืองกุสินารา |  

อานนท์! มาเถิด, เราจักไปเมืองกุสินารา, (แล้วเสด็จทั้งที่ยังประชวร, ในกลางทางทรงแวะนั่ง ณ ร่มไม้แห่งหนึ่ง), อานนท์! เธอจงปูผ้าสังฆาฎิที่พับเป็น 4 ชั้น ให้เราเถิด เราลำบากกายนัก, จักนั่งพัก, อานนท์! เธอจงนำน้ำดื่มมาให้เรา, เราระหายนัก. (พระอานนท์ทูลผัดว่า เกวียน 500 เพิ่งจะผ่านไป น้ำขุ่นหมด, ขอให้ทรงทนไปหาน้ำมี่แม่น้ำกกุธนทีข้างหน้า จนตรัสซ้ำถึง 2 ครั้ง พระอานนท์ จึงไปตักน้ำ แต่น้ำมิได้ขุ่นเลย, กลับมาแล้วทูลความอัศจรรย์ ข้อนี้. ต่อจากนี้ ทรงพบและสนทนาเรื่องสมาธิอย่างยิ่งกับปุกกุสะ มัลลบุตร ดังที่กล่าวแล้วในภาค 4 ตอน "ทรงมีฌานที่แน่วแน่ชั้นพิเศษ". ในที่สุดเขารับถือสรณะแล้วถวายผ้าเนื้อดี 2 ผืน). ปุกกุสะ! ถ้าอย่างนั้นเธอจงคลุมให้เราผืนหนึ่ง, อีกผืนหนึ่ง ให้อานนท์เถิด. (แต่เมื่อปุกกุสะทำดังนั้นหลีกไปแล้ว พระอานนท์ น้อมเข้าไปสู่พระกายพระผู้มีพระภาคทั้ง 2 ผืน เห็นพระฉวีผ่องใสยิ่งนัก ก็ทูลถาม).

อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้ง คือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่แวะพักกลางทาง ของพวกมัลลกษัตริย์ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามแห่งคืนนี้.

มาเถิด, อานนท์! เราจักไปยังแม่น้ำกกุธนทีด้วยกัน. (ทรงสรงในแม่น้ำแล้ว เสด็จเข้าสวนอัมพวัน ประทับนอนสีหเสยยา เพื่อพักผ่อนบนสังฆาฎิพับเป็นสี่ชั้นปูถวายโดยพระจุนทกะ, และตรัสปรารถถึงนายจุนท์).

อานนท์! คงมีใครทำความเดือดร้อนให้แก่ จุนทะ กัมมารบุตรโดยกล่าวว่า "จุนทะ! การที่ท่านถวายบิณฑบาตเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหาได้โดยยากนั้น ไม่เป็นลาภเสียแล้ว" ดังนี้. อานนท์! เธอพึงกำจัดความเดือดร้อนนั้นเสีย โดยกล่าวว่า "จุนทะ! การถวายบิณฑบาตครั้งสุดท้ายของท่านเป็นความดีแล้วเป็นลาภของท่านแล้ว, เราได้ฟังมาแล้วเฉพาะพระพักตร์ว่า บิณฑบาตทั้งสอง มีผลเสมอกัน มีผลยิ่งยอดกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ คือ บิณฑบาตที่พระตถาคตเจ้าเสวยแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างหนึ่ง และที่เสวยแล้วเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอย่างหนึ่ง. กุศลกรรมที่นายจุนทะสร้างสมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ อายุ วรรณะ สุขะ ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่." อานนท์! เธอพึงกำจัดความเดือดร้อนของนายจุนทะ กัมมารบุตรด้วยการกล่าวอย่างนี้แล (แล้วทรงเปล่งพระอุทานนี้):

บุญ ย่อมเจริญ งอกงาม แก่ทายก ผู้ให้อยู่ๆ, เวร ย่อมไม่สืบต่อ แก่บุคคลผู้ระงับเวรเสียได้, คนฉลาดเท่านั้น, ละบาปเสียได้แล้ว ก็นิพพาน เพราะความสิ้นไปแห่ง ราคะ โทสะ และโมหะ.

- มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. 10/149/117.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง