[Font : 15 ]
| |
สิกขา

1. พยัญชนะ : สิกขาโดยพยัญชนะ : คือ ศึกษา.

2. อรรถะ : สิกขาโดยอรรถะ :

2.1 อรรถะที่สมบูรณ์ที่สุดตามความหมายของบาลีคำนี้คือ : ดูตัวเอง ในตัวเอง เห็นตัวเอง โดยตัวเอง เพื่อตัวเอง (มิใช่เพียงแต่เล่าเรียน ขีดๆ เขียนๆ).

2.2 หมายถึงระบบการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ที่เรียกว่า ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา (ดูที่แม่บทคำนั้นๆ).

2.3 โดยอ้อม : คือการมีสติระวังสังวร มิให้เกิดโทษขึ้นมาทางกาย วาจา ใจ.

2.4 ใช้เป็นคำรวมสำหรับเรียกสิกขาบท หรือวินัยทั้งหมดของภิกษุคู่กันกับคำว่า อาชีพ ; เรียกว่า สิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือการปฏิบัติตามพระปาฏิโมกข์อย่างครบถ้วน.

3. ไวพจน์ : สิกขาโดยไวพจน์ :

3.1 โดยภาษาสันสกฤต : ว่า ศึกษา.

โดยภาษาบาลี : ว่า สิกขา.

โดยภาษาไทย : ว่า การศึกษาเล่าเรียน การอบรม การฝึกฝน.

3.2 โดยการปฏิบัติ: คือ ปฏิปทา, อาโยคะ, พรหมจริยา (พรหมจรรย์), สัลเลข (ขูดเกลา), ลิกขน (ศึกษาเล่าเรียน) ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : สิกขาโดยองค์ประกอบ :

4.1 ทางวัตถุ : ประกอบด้วย สถานที่ ตำรา อุปกรณ์ ผู้สอน ผู้เรียน ภารโรง ฯลฯ

4.2 โดยทางการกระทำที่สมบูรณ์ : คือ การดูที่สิ่งนั้นๆ การเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ การรู้ในสิ่งนั้นๆ การวิจัยทุกแง่มุมเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ได้ผลอย่างไรแล้วนำไปสู่การปฏิบัติตามนั้น.

4.3 โดยทางจิต : มี :

1. สติ : ระลึกรู้โดยครบถ้วน.

2. ธัมมวิจัย : เลือกส่วนที่เหมาะสมจากที่ระลึกรู้มาได้ทั้งหมด.

3. วิริยะ : พากเพียรปฏิบัติอย่างเต็มที่ในส่วนที่เลือกได้แล้ว ; โดย มีอิทธิบาท 4 เป็นองค์ประกอบของการปฏิบัติ.

4. ปีติ : หล่อเลี้ยงความเพียรไว้อย่างเหน็ดเหนื่อย.

5. ปัสสัทธิ : กระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้เข้ารูปแก่กันและกัน เรียกว่าเข้ารูป หรือลงรูป.

6. สมาธิ : ระดมกำลังจิตทั้งหมดในการกระทำ.

7. อุเบกขา : เฝ้าดูผลที่เกิดขึ้นมา จากการกระทำอันถูกต้อง และสมบูรณ์นั้น.

นี้ตามหลักแห่งโพชฌงค์ 7.

5. ลักษณะ : สิกขาโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ที่สามารถนำไปสู่ความรู้แจ้ง เรื่องทุกข์และความดับทุกข์.

5.2 แห่งการนำออกมาจากความทุกข์.

5.3 แห่งความสงบเยือกเย็น ทั้งในการเรียน การปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ.

5.4 ทำให้มนุษย์ได้รู้สิ่งที่ควรต้องรู้ หรือทำให้ได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ : ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย (ความสิ้นราคาะ โทสะ โมหะ).

6. อาการ : สิกขาโดยอาการ : คือ มีอาการ :

6.1 แห่งการทำให้รู้สิ่งที่ควรรู้ เห็นสิ่งที่ควรเห็น ละสิ่งที่ควรละ รับผลที่ควรได้รับ.

6.2 แห่งการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ถูกต้อง ; คือสามารถแก้ปัญหา หรือความทุกข์ ทั้งในชีวิตประจำวัน และโดยสิ้นเชิง.

6.3 แห่งการนำสัตว์ออกจากวัฏฏสงสาร สู่นิพพาน.

7. ประเภท : สิกขาโดยประเภท :

นัยที่ 1 : โดยระดับของการรู้ :

1. รู้สำหรับเจริญอยู่ในโลก.

2. รู้สำหรับออกไปจากโลก (ความทุกข์).

นัยที่ 2 : โดยระดับของการกระทำ :

1. ศีล : ความถูกต้องสมบูรณ์ทางกาย วาจา.

2. สมาธิ : ความถูกต้องสมบูรณ์ทางจิต.

3. ปัญญา : ความถูกต้องสมบูรณ์ทางสติปัญญา.

นัยที่ 3 : โดยฐานที่ตั้งของการกระทำ : คือ กาย วาจา จิต.

นัยที่ 4 : โดยรูปแบบของการดำเนินชีวิต (อาศรม) :

1. การศึกษาสำหรับผู้อยู่ในวัยหนุ่มสาว (พรหมจารี).

2. การศึกษาสำหรับพ่อบ้านแม่เรือน (คฤหัสถ์).

3. การศึกษาเพื่อความเป็นมุนีA89 ผู้อยู่ในที่สงัดไม่มีการจาริก (วนปรัสถ์).

4. การศึกษาเพื่อความเป็นมุนีผู้จาริกเพื่อการสั่งสอน (สันยาสี).

8. กฎเกณฑ์ : สิกขาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ต้องครบทั้งสามความหมาย : คือทั้งกาย วาจา ใจ ; และศีล สมาธิ ปัญญา.

8.2 ต้องเป็นการกระทำชนิดที่เป็นการมอบกายถวายชีวิต: คือ สัจจะ - ทำจริง ; ทมะ - บังคับให้ทำจริง ; ขันติ - อดทนเพื่อรักษาความจริงไว้ให้ได้ ; จาคะ - ระบายสิ่งที่เป็นข้าศึกของความจริงออกอยู่เสมอ.

สรุปความว่า : บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สืบคำสอนต่อไปจริงๆ

8.3 ต้องเป็นการนำมาซึ่งความฉลาด ที่ไม่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ; แต่กำจัดความเห็นแก่ตัว.

9. สัจจะ : สิกขาโดยสัจจะ :

9.1 เป็นสิ่งจำเป็นที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดทุกระดับ จะต้องรู้ สำหรับแก้ปัญหาทั้งทางกายและทางจิต.

9.2 เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตจะต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสิกขาจนกว่าจะหมดปัญหา.

9.3 เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตจะต้องได้รับผลแห่งการปฏิบัติจนครบถ้วนเพียงพอแก่สถานะของตนๆ จึงจะรอดอยู่ได้.

9.4 การศึกษาต้องสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งทางโลก ทางธรรม ; คือทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ.

10. หน้าที่ : สิกขาโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : หน้าที่ (โดยสมมติ) ของสิกขา :

1. มีหน้าที่กำจัดความไม่รู้ (อวิชชา) และปัญหาทั้งปวงอันเกิดจากความไม่รู้.

2. มีหน้าที่นำสัตว์ไปสู่ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ (นิพพาน).

นัยที่ 2 : หน้าที่ของมนุษย์ต่อสิกขา :

1. ต้องมีการศึกษาเป็นเครื่องนำทางของชีวิต.

2. ต้องมีการเลื่อนชั้นการศึกษาของตนจนกว่าจะหมดปัญหาแห่งชีวิต (นิพพาน).

3. ต้องมีความจริงจังต่อการศึกษาให้สมกับเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดของชีวิต.

11. อุปมา : สิกขาโดยอุปมา : เป็นเสมือน :

11.1 ศาสตรา อันเป็นเครื่องกำจัดศัตรูทั้งภายนอกและภายใน.

11.2 โล่ เป็นสิ่งป้องกันอาวุธจากศัตรู.

11.3 แสงสว่าง, แผนที่, เข็มทิศของชีวิต.

11.4 เครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในแง่ของพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์.

12. สมุทัย : สิกขาโดยสมุทัย :

12.1 เกิดจากการบีบคั้นของความทุกข์ตามธรรมชาติ (โดยสัญชาตญาณ).

12.2 เกิดจากสัมมาทิฏฐิของมนุษย์เอง (โดยภาวิตญาณ).

12.3 เกิดจากความต้องการเพื่อความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป (โดยตัณหาของมนุษย์เอง).

13. อัตถังคมะ : สิกขาโดยอัตถังคมะ :

13.1 การสะดุดหรือหยุดชะงักไปตามคราว เพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย

13.2 เมื่อจบสิ้นการศึกษา.

13.3 เมื่อขาดปัจจัยของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางวัตถุหรือทางจิตใจ.

14. อัสสาทะ : สิกขาโดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะจากตัวสิกขา : คือ เป็นที่พอใจหลงใหลของนักปราชญ์.

14.2 อัสสาทะจากผลของการศึกษา : คือ การทำให้ผู้ศึกษาได้รับสิ่งที่ต้องการ.

15. อาทีนวะ : สิกขาโดยอาทีนวะ : สิกขาที่แท้จริงไม่มีอาทีนวะ ; มีแต่สิกขาที่ถือเอาผิด ; คือถือเอาด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน.

16. นิสสรณะ : สิกขาโดยนิสสรณะ : ไม่ต้องมีการออกจากการศึกษา ; มีแต่การศึกษานำสัตว์ออกจากทุกข์ เมื่อมีการศึกษาอย่างถูกต้องและเพียงพอ.

17. ทางปฏิบัติ : สิกขาโดยทางปฏิบัติ :

17.1 เรียนจากผู้สอน : คือ พระศาสดา ครูบาอาจารย์ ด้วยการฟัง การใคร่ครวญ และการปฏิบัติ.

17.2 เรียนจากธรรมชาติ : คือ เรียนจากตัวความทุกข์ และปัจจัยแห่งความทุกข์ ที่เกิด - ดับอยู่กับจิตใจของตนเอง.

18. อานิสงส์ : สิกขาโดยอานิสงส์ : คือ ทำให้ชีวิตได้รับการพัฒนาไปตามลำดับขั้น จนเป็นชีวิตที่หมดปัญหา ทั้งทางโลกและทางธรรม.

19. หนทางถลำ : สิกขาโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีสิกขา :

19.1 การได้คบสัตบุรุษ.

19.2 การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม.

19.3 การถูกความทุกข์บีบคั้น.

19.4 ความเป็นผู้รับการศึกษาเป็นนิสัย.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สิกขาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 กัลยาณมิตร.

20.2 ปัจจัยที่จำเป็นแก่การศึกษาที่ถูกต้อง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : สิกขาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : การศึกษาเล่าเรียน.

ภาษาธรรม : การพัฒนาชีวิตด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา.

21.2 ภาษาคน : เพื่อการได้ผลทางวัตถุ.

ภาษาธรรม : เพื่อการได้ผลทางจิตใจ.

21.3 ภาษาคน : คนสอน.

ภาษาธรรม : ธรรมชาติสอน.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. พุทธิกจริยธรรม

2. ฟ้าสางฯ ตอน 2

3. สันทัสเสตัพพธรรม

4. อะไรคืออะไร ?


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง