[Font : 15 ]
| |
เวทนา

1.พยัญชนะ : เวทนาโดยพยัญชนะ : คือ รู้ หรือ รู้สึก (ทางผัสสะ)

2. อรรถ : เวทนาโดยอรรถ : คือ ความรู้สึกของจิตเมื่อเสวยอารมณ์ที่เข้ามากระทบ (รู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง หรือ เฉยๆ บ้าง) ทำให้ชีวิตมีปัญหา หรือความหมาย.

3. ไวพจน์ : เวทนาโดยไวพจน์ : คือเวทยิต, มุต.

4. องค์ประกอบ : เวทนาโดยองค์ประกอบ : คือ อายตนะภายใน,อายตนะภายนอก, ผัสสะแต่ละอย่างๆ.

5. ลักษณะ : เวทนาโดยลักษณะ :

5.1 เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาความอยาก.

5.2 เป็นที่หลงไหลแห่งจิต.

5.3 มีสามัญลัษณะสาม (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา).

6. อาการ : เวทนาโดยอาการ : คือ มีอาการว่าถูกปรุงแต่ง โดยอารมณ์นั้นๆ : แล้วรู้สึกพอใจ, ไม่พอใจ, เฉยๆ.

7. ประเภท : เวทนาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. สุขเวทนา.

2. ทุกขเวทนา.

3. อทุกขมสุขเวทนา.

7.2. แบ่งโดยประเภท 5 : คือเวทนาที่เป็นเรื่องละเอียดทางจิตใจ ; และมีความสำคัญในฐานะให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้นามใหม่ว่า อินทรีย์ทั้งห้า ได้แก่ สุขินทรีย์, โทมนัสสินทรีย์, โสมนัสสินทรีย์, อุเปกขินทรีย์.

7.3 แบ่งโดยประเภท 6 : คือการแบ่งตามอายตนะที่เกิดขึ้น : ได้แก่จักขุสัมผัสสชาเวทนา, โสตสัมผัสสชาเวทนา, ฆานสัมผัสสชาเวทนา, ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา, กายสัมผัสสชาเวทนา.

8. กฎเกณฑ์ : เวทนาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 มีผัสสะก็มีเวทนา; มีเวทนาก็มีตัณหา ; .เวทนามีผัสสะนำหน้ามีตัณหาตามหลัง.

8.2. เวทนปรุงให้เกิดสัญญาก่อน; แล้วจึงปรุงวิตก หรือตัณหาได้.

9. สัจจะ : เวทนาโดยสัจจะ :

9.1 เวทนาเป็นที่รวมแห่งปัญหาทุกชนิดของมนุษย์ ; ถ้าเอาชนะเวทนาได้ ก็ชนะปัญหาทั้งปวงได้.

9.2 เพราะอำนาจของอวิชชา เวทนาจึงมีค่า หรืออำนาจครอบงำสัตว์; ด้วยความหลงในเวทนา.

9.3 เวทนาใดที่ไม่อาจก่อให้เกิดสัญญาได้แล้ว ; เวทนานั้นไม่อาจปรุงแต่งจิต หรือไม่ก่อให้เกิดตัณหา เช่น เวทนาของพระอรหันต์.

9.4 เวทนาสำหรับคนแต่ละคนไม่เหมือนกันโดยอารมณ์; แต่เมื่อเป็นสุขแล้วก็สามารถปรุงตัณหาได้เสมอกัน.

9.5 ถ้ามีปัญญาอย่างพระอริยเจ้าแล้ว ; เวทนาก็เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางระบบประสาทเท่านั้น; ไม่มีความหมายว่า สุข หรือ ทุกข์ หรืออทุกขมสุข.

9.6 ทุกอย่างในโลกสรุปรวมอยู่ที่เรียกว่า.”เวทนา”; ดังนั้นถ้าชนะเวทนาได้ ก็จะชนะโลกทั้งปวง

9.7 เวทนาเป็นที่ตั้งของ นรก สวรรค์ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้.

9.8 เวทนาทุกชนิดเป็นมายา.

9.9 เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดวิชชา และอวิชชา.

9.10 เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดภพทั้งหลาย.

9.11 เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดทิฏฐิทั้งหลาย.

10. หน้าที่ : เวทนาโดยหน้าที่ : มีหน้าที่ (โดยสมมติ) : ให้เกิดกิเลสในกรณีนั้นๆ แล้วเหลือไว้เป็นความเคยชิน เรียกว่า อนุสัย.

11. อุปมา : เวทนาโดยอุปมา :

11.1 สุขเวทนา : มีอุปมาเหมือนยาเสพติด ; เป็นศัตรูที่มาในคราบแห่งมิตร ; หรือมารที่มาในหคราบของเทวดา.

ทุกขเวทนา : มีอุปมาเหมือนศัตรูที่มาในคราบของศัตรู.

อทุกขมสุขเวทนา : มีอุปมาเหมือนศัตรูที่มาในคราบที่ดูไม่ออกว่า เป็นมิตร หรือ ศัตรู ; แต่ก็เป็นศัตรู.

11.2 เวทนาโดยความหมายที่เป็นมายา : อุปมาเหมือนต่อมน้ำที่เกิดบนผิวน้ำเมื่อเม็ดฝนตกลงกระทบผิวน้ำ.

12. สมุทัย : เวทนาโดยสมุทัย : สมุทัยของเวทนาคือผัสสะ : ซึ่งเกิดมาจากการประชุมพร้อมกันของอายตนะภายใน, อายตนะภายนอก, และวิญญาณ.

13. อัตถังคมะ: เวทนาโดยอัตถังคมะ : คือ สติที่มาทันเวลาของผัสสะ หรือของเวทนานั่นเอง.

14. อัสสาทะ : เวทนาโดยอัสสาทะ : คือ คุณค่าที่ทำให้เกิดตัณหาตามชนิดของเวทนา.

15. อาทีนวะ : เวทนาโดยอาทีนวะ :

15.1 เวทนาเป็นที่รวมให้เกิดปัญหาทุกอย่างในโลก ทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม.

15.2 เวทนาเป็นที่ตั้งของความยึดถือจนเกิดทุกข์.

15.3 เวทนาเป็นเหตุให้เกิดรัก (ราคะ), เกิดชัง(โทสะ), เกิดหลง(โมหะ).

15.4 อาทีนวะของเวทนา :

สุขเวทนา : ทำให้เกิดราคานุสัย.

ทุกขเวทนา : ทำให้เกิดปฏิฆานุสัย.

อทุกขมสุขเวทนา : ทำให้เกิดอวิชชานุสัย.

ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานของความทุกข์.

15.5 เวทนาเบียดเบียนจิต ทั้งที่อยู่ในรูปของ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขมสุขเวทนา.

16. นิสสรณะ : เวทนาโดยนิสสรณะ :

16.1 การดำรงอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8.

16.2 การมีสติสัมปชัญญะในขณะแห่งผัสสะ หรือในขณะแห่งเวทนา.

16.3 การมีวิปัสสนาญาณในธรรมลักษณะของเวทนานั้น :

17. ทางปฏิบัติ : เวทนาโดยทางปฏิบัติ : เพื่อให้อยู่เหนืออิทธิพลของเวทนา :

17.1 ไม่ให้ผัสสะปรุงเวทนา หรือไม่ให้เวทนาปรุงตัณหา.

17.2 เมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้ว มีความรู้เท่าทันว่าเป็นสักแต่เวทนา ; คือความรู้สึกตามธรรมชาติในตัวมันเอง ปราศจากความหมายแห่งตัวตน.

17.3 เมื่อเกิดสุขเวทนา อย่ายินดีให้เกิดราคานุสัย.

เมื่อเกิดทุกขเวทนา อย่ายินดีให้เกิดปฏิฆานุสัย.

เมื่อเกิดอทุกขมสุขเวทนา อย่าไปมัวสงสัยให้เกิดอวิชชานุสัย.

18. อานิสงส์ : เวทนาโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์เวทนาไม่มีเมื่ออยู่ใต้อำนาจของเวทนา ; แต่มีเมื่ออยู่เหนืออำนาจของเวทนา คือ ไม่เป็นทุกข์.

18.2 แต่อย่างไรก็ดี เวทนามีประโยชน์ในการเป็นที่ตั้งแห่งบทเรียน คือ การศึกษาและปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ทั้งปวง.

19. หนทางถลำ: เวทนาโดยหนทางถลำ : เข้าสู่ใต้อิทธิพลของเวทนา :

19.1 ความเผลอสติ.

19.2 ความไม่รู้ว่าเวทนาเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ จึงถลำเข้าไป.

19.3 ความอดทนต่อความยั่วยวนของเวทนาไม่ได้ ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เวทนาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : กับการปฎิบัติเพื่อออกจากอำนาจของเวทนา : คือ มีกัลยาณมิตรและสัปปายะธรรมอื่นๆ ที่อาจร่วมกัน กำจัดอำนาจของเวทนา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : เวทนาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : คำนี้ในภาษาไทย หมายถึง ความลำบาก น่าสงสาร.

ภาษาธรรม : หมายถึง ความรู้สึกทางอารมณ์ที่เป็นต้นเงื่อนแห่งกิเลส, ตัณหา และความทุกข์.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ตุลาการิกธรรม เล่ม 1

2. นวกานุสาสน์ เล่ม 1

3. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

4. ปฏิปทาปริทรรศน์

5. โมกข์ธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง