[Font : 15 ]
| |
การเสด็จไปทรมานพกพรหมผู้กระด้างด้วยลัทธิ |  

ภิกษุ ท.! ในกาลครั้งหนึ่ง เราพักอยู่ ณ ควงพญาไม้สาละ ป่าสุภควันในเขตอุกกัฎฐนคร. ภิกษุ ท.! สมัยนั้น พวกพรหมมีทิฎฐิอันชั่วร้ายอย่างนี้ว่า "พรหมสภาวะเช่นนี้ เป็นของเที่ยง (นิจฺจํ) ยั่งยืน (ธุวํ) มีอยู่เสมอ (สสฺสตํ) เป็นของอย่างเดียวตลอดกาล (เกวลํ) มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา (อจวนธมฺมํ);เพราะว่าพรหมสภาวะเช่นนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ; ก็แหละไม่มีสภาวะอื่นที่เป็นนิสสรณะเครื่องออกไปจากทุกข์ ยิ่งไปกว่าพรหมสภาวะนี้" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ครั้งนั้นแล เรารู้ปริวิตกของพกพรหมในใจด้วยใจแล้วละจากควงแห่งพญาไม้สาละไปปรากฎตัวในพรหมโลกนั้น ชั่วเวลาสักว่าบุรุษแข็งแรงเหยียดแขนหรือคู้แขนเท่านั้น.

ภิกษุ ท.! พกพรหมได้เห็นเราผู้มาอยู่จากที่ไกล แล้วได้กล่าวกะเราว่า "ท่านผู้นิรทุกข์! เข้ามาเถิด, ท่านผู้นิรทุกข์! ท่านมาดีแล้ว, ท่านผู้นิรทุกข์! ต่อนาน ๆท่านจึงจะมาถึงที่นี้. ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสภาวะนี้ เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มีอยู่เสมอ เป็นของอย่างเดียวตลอดกาล มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา; เพราะว่าพรหมสภาวะนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ; ก็แหละไม่มีสภาวะอื่นที่เป็นนิสสรณะเครื่องออกไปจากทุกข์ ยิ่งไปกว่าพรหมสภาวะนี้" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้, เราได้กล่าวกะเขาว่า "พกพรหมผู้เจริญไปสู่อวิชชาเสียแล้วหนอ! พกพรหมผู้เจริญไปสู่อวิชชาเสียแล้วหนอ! คือข้อที่ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงเลย ว่าเป็นของเที่ยง, กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลย ว่ายั่งยืน,กล่าวสิ่งที่ไม่มีอยู่เสมอ ว่าเป็นของมีอยู่เสมอ, กล่าวสิ่งที่ไม่เป็นของอย่างเดียวตลอดกาล ว่าเป็นของอย่างเดียวตลอดกาล, กล่าวสิ่งมีความเคลื่อนเป็นธรรมดา ว่าเป็นสิ่งทีไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา; และข้อที่ กล่าวสิ่งที่เกิด ที่แก่ ที่ตายที่เคลื่อน ที่อุบัติ ว่าเป็น สิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ; และกล่าวนิสสรณะอันยิ่งอื่นที่มีอยู่ ว่าไม่มีนิสสรณะอื่นที่ยิ่งกว่า" ดังนี้. ....

หมายเหตุ : ข้อความตอนต่อไปจากข้างบนนี้ ยังมีอีกยืดยาว; กล่าวถึงมารมาช่วยพวกพรหมโต้กับพระองค์ ทั้งขู่ทั้งล่อ เพื่อให้พระองค์ทรงยอมตามพวกพรหม.แม้พกพรหมก็ยังยืนและอธิบายลัทธินั้นด้วยอุปมาที่น่าคล้อยตาม. ทรงแก้คำของพรหมด้วยอาการต่าง ๆ เช่นว่าพกพรหมยังไม่รู้จักพรหมที่เหนือขึ้นไปจากตน เช่นพรหมพวกอาภัสสระ-สุภกิณหะ-เวหัปผละ; และทรงแสดงข้อที่พระองค์ไม่ทรงยึดถือดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น. ในที่สุด มีการท้าให้มีการเล่นซ่อนหากัน และทรงชนะ แล้วตรัสคาถาที่เป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนาที่เหนือกว่าพรหมโดยประการทั้งปวง กล่าวคือความรู้สึกที่อยู่เหนือภพและวิภพ ซึ่งพุทธบริษัททุกคนควรสนใจอย่างยิ่ง. พวกพรหมยอมแพ้ มารก็ยอมรับแต่ก็ยังแค่นของร้องอย่าให้พระองค์ ทรงสอนลัทธิของพระองค์เลย; ตรัสตอบมารว่านั่นมันไม่เป็นความเกื้อกูลแก่สัตว์โลก; สัมมาสัมพุทธะที่มารอ้างมานั้น เป็นสัมมาสัมพุทธะเก๊. ข้อความที่เป็นรายละเอียดพึงดูได้จากพรหมนิมันตนิกสูตร มู.ม. เล่ม 12 ตั้งแต่หน้า 591 เป็นต้นไป หรือตั้งแต่บรรพ 553 เป็นต้นไปจนจบสูตร.

บาลีพระสูตรนี้สำคัญมาก ได้กล่าวถึงหัวใจของพุทธศาสนาในรูปปุคคลาธิษฐานถึงกับสมมติให้เป็นการโต้กัน ระหว่างลัทธิที่มีอาจมันกับไม่มีอาตมัน; ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง. -ผู้รวบรวม.

- บาลี พรหมนิมันตนิกสูตร มู.ม. 12/590/552. ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง