[Font : 15 ]
| |
ทรงท้าให้ใครปฏิเสธธรรมะที่พระองค์รับรอง |  

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเยี่ยมเยียนสำนักปริพพาชก และสนทนากัน เป็นของมีโดยปรกติ.

ปริพพาชก ท.! ธรรมบทมีอยู่ 4 บท ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นของเลิศเป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคตสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่มีใครคัดค้าน.05.25 4 บทนั้นคืออะไรเล่า? คือ อนภิชฌา (ความไม่เพ่งด้วยความใคร่ในอารมณ์), อพยาบาท (ความไม่คิดประทุษร้าย), สัมมาสติ (ความระลึกชอบอยู่เสมอ) และ สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจชอบแน่วแน่อยู่เสมอ).

ปริพพาชก ท.! ถ้าจะพึงมีผู้ใดกล่าวว่า "เราขอปฏิเสธธรรมบทคือความไม่มีอภิชฌา; เราขอบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ ที่มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลายแทน" ดังนี้แล้ว เราก็จะกล่าวท้าผู้นั้นว่า "มาซิท่าน จงกล่าวออกไปจงสำแดงให้ชัดแจ้งเถิด เราจักขอดูอานุภาพ" ดังนี้. ปริพพาชก ท.! มันไม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เลย ที่ใครจะปฏิเสธความไม่มีอภิชฌา แล้วไปยกย่องสมณพราหมณ์ผู้มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลายแทน.

ปริพพาชก ท.! ถ้าจะพึงมีผู้ใดกล่าวว่า "เราขอปฏิเสธความไม่พยาบาท, เราขอบัญญัติสมณพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความประทุษร้ายเป็นเครื่องดำริอยู่เป็นประจำใจแทน" ดังนี้แล้ว เราก็จะกล่าวท้าผู้นั้นว่า "มาซิท่าน ท่านจงกล่าวออกไป จงสำแดงให้ชัดแจ้งเถิด เราจักขอดูอานุภาพ" ดังนี้. ปริพพาชก ท.! มันไม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เลย ที่ใครจะปฏิเสธความไม่พยาบาท แล้วไปยกย่องสมณพราหมณ์ ผู้มีจิตพยาบาทมีความประทุษร้ายเป็นเครื่องดำริอยู่ประจำใจแทน.

ปริพพาชก ท.! ถ้าจะพึงมีผู้ใดกล่าวว่า "เราขอปฏิเสธสัมมาสติ; เราขอบัญญัติสมณพราหมณ์ ผู้ไร้สติปราศจากสัมปชัญญะ ขึ้นแทน" ดังนี้แล้ว เราก็จะกล่าวท้าผู้นั้นว่า "มาซิท่าน ท่านจงกล่าวออกไป จงสำแดงให้ชัดแจ้งเถิด เราจักขอดูอานุภาพ" ดังนี้. ปริพพาชก ท.! มันไม่เป็นิ่งที่เป็นไปได้เลย ที่ใครจะปฏิเสธสัมมาสติ แล้วไปยกย่องสมณพราหมณ์ผู้ไร้สติปราศจากสัมปชัญญะ ขึ้นแทน.

ปริพพาชก ท.! ถ้าจะพึงมีผู้ใดกล่าวว่า "เราขอปฏิเสธสัมมาสมาธิ;เราขอบัญญัติสมณพราหมณ์ ผู้มีจิตกลับกลอกไม่ตั้งมั่น ขึ้นแทน" ดังนี้แล้ว, เราก็จะกล่าวท้าผู้นั้นว่า "มาซิท่าน ท่านจงกล่าวออกไป จงสำแดงให้ชัดแจ้งเถิด เราจักขอดูอานุภาพ" ดังนี้. ปริพพาชก ท.! มันไม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เลยที่ใครจะปฏิเสธสัมมาสมาธิ แล้วไปยกย่องสมณพราหมณ์ผู้มีจิตกลับกลอกไม่ตั้งมั่นแทน.

ปริพพาชก ท.! ผู้ใดเห็นว่าธรรมบท 4 บทนี้ ควรตำหนิควรคัดค้านแล้วไซร้ ในปัจจุบันนี้เอง ผู้นั้นจะต้องได้รับการตำหนิที่ชอบแก่เหตุ ถูกยันด้วยคำของตนเอง ถึง 4 ประการ. 4 ประการคืออะไรบ้างเล่า? 4 ประการคือถ้ามีสมณพราหมณ์พวกใด มากด้วยอภิชฌามีราคะแก่กล้าในกามทั้งหลาย มา เขาก็ต้องบูชายกย่องสมณพราหมณ์เหล่านั้. ถ้ามีสมณพราหมณ์เหล่าใดที่มีจิตพยาบาทมีความประทุษร้ายเป็นเครื่องดำริอยู่ประจำใจมา เขาก็ต้องบูชายกย่องสมณพราหมณ์เหล่านั้น. ถ้ามีสมณพราหมณ์เหล่าใด ที่ไร้สติปราศจากสัมปชัญญะมา เขาก็ต้องบูชายกย่องสมณพราหมณ์เหล่านั้น. ถ้ามีสมณพราหมณ์เหล่าใด ที่มีจิตกลับกลอกไม่ตั้งมั่น มา เขาก็ต้องบูชายกย่องสมณพราหมณ์เหล่านั้น, ดังนี้.

ปริพพาชก ท.! แม้แต่ปริพพาชกชื่อ วัสสะ และปริพพาชกชื่อภัญญะ ซึ่งเป็นลัทธิอเหตุกทิฎฐิ อกิริยทิฎฐิ นัตถิกทิฎฐิ ก็ยังถือว่า ธรรมบททั้ง 4 บทนี้ ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรคัดค้าน. เพราะเหตุใดเล่า? เพราะกลัวถูกนินทาว่าร้ายและชิงชังนั่นเอง.

- บาลี จตุกฺก. อํ. 21/38/30. ตรัสแก่ปริพพาชกทั้งหลาย ที่สำนักปริพพาชก ใกล้เมืองราชคฤห์.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง