[Font : 15 ]
| |
พระรังโรค |  

ภิกษุ ท.! โรค 2 อย่างเหล่านี้มีอยู่. 2 อย่างไรกันเล่า? 2 อย่างคือ โรคทางกาย กับโรคทางใจ

ภิกษุ ท.! ย่อมเห็นกันอยู่แล้วว่า สัตว์ทั้งหลาย ที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกายตลอด 1 ปีบ้าง, 2 ปีบ้าง, 3 ปีบ้าง, 4 ปีบ้าง, 100 ปีบ้าง, และที่ยืนยันถึงความไม่มีโรคทางกายยิ่งกว่า 100 ปีบ้าง, ก็พอจะหาได้.

ภิกษุ ท.! แต่หมู่สัตว์ ที่จะกล้ายืนยันถึงความไม่มีโรคทางใจแม้ชั่วเวลาเพียงครู่เดียว (มุหุตฺต) เว้นแต่พระขีณาสพแล้ว นับว่า หาได้แสนยากในโลก.

ภิกษุ ท.! โรคของบรรพชิต 4 อย่างเหล่านี้. 4 อย่างอะไรกันเล่า? 4 อย่างคือ:-

(1) ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ, ไม่รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ ตามมีตามได้.

(2) ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจเพราะความมักมากอยู่เสมอ ไม่รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ ตามมีตามได้แล้ว, ย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพื่อจะได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น, และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ.

(3) ภิกษุนั้น ย่อมวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม เพื่อจะได้รับการเอาอกเอาใจจากคนอื่น, และเพื่อจะได้ลาภสักการะและเสียงเยินยอ.

(4) ภิกษุนั้น ย่อมคิดวางแผนการเข้าสู่สกุล ย่อมคิดวางแผนการนั่งในสกุล ย่อมคิดวางแผนการกล่าวธรรมในสกุล ยอ่มคิดว่างแผนการทนกลั้นอุจจาระปัสสาวะ คลุกคลีอยู่ในสกุล

ภิกษุ ท.! โรคของบรรพชิต 4 อย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกว่า "เราทั้งหลาย จักไม่เป็น ผู้มักมาก, จักไม่เป็นผู้ร้อนใจเพราะความมักมาก, แต่เป็นผุ้รู้จักพอด้วยผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และหยูกยาแก้ไข้ ตามมีตามได้; จักไม่ตั้งความปรารถนาลามก เพื่อให้ได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น และเพื่อให้ได้ลากสักการะและเสียงเยินยอ; จักไม่วิ่งเต้น ขวนขวาย พยายาม เพื่อให้ได้รับการคอยเอาอกเอาใจจากคนอื่น,แ ละเพื่อให้ได้ลากสักการะและเสียงเยินยอ; จักเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย,ต่อถ้อยคำหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ, เป็นผู้อดทนต่อเวทนา ที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ขมขื่น ไม่เจริญใจ ถึงขนาดจะคร่าเอาชีวิตเสียได้" ดังนี้. ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต จตุกฺก. อํ. 21/191/157, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง