[Font : 15 ]
| |
เนื้อที่ไม่ติดบ่วงนายพราน |  

ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณ 5 เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ บริโภคกามคุณทั้ง 5 นั้นอยู่; สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อันคนทั้งหลาย พึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศ ย่อยยับ ไม่ต้องทำตามประสงค์ของมารผู้ใจบาปแต่อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่ในกอบ่วง ในลักษณะที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไม่ต้องทำตามประสงค์ของพรานแต่อย่างใด, เมื่อนายพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนีไปได้ตามที่ต้องการ ดังนี้. ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : เมื่อไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมา หมกอยู่ ในกามคุณ 5 เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง ในอุบายเป็นเครื่องออกจากทุกข์ บริโภคกามคุณทั้ง 5 อยู่, ก็เป็นผู้คนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไม่ต้องทำตามประสงค์ของมารผู้ใจบาปแต่อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุ ท.! กามคุณเหล่านี้ มี 5 อย่าง. 5 อย่างอะไรบ้างเล่า? 5 อย่างคือ รูป ที่ได้เห็นด้วยตา, เสียงที่ได้ยินด้วยหู, กลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก, รสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น และโผฏฐัพพะ ที่ได้สัมผัสด้วยกาย, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าชอบใจ ยวนตาให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ. ภิกษุ ท.! กามคุณมี 5 อย่างเหล่านี้แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต ปาสราสิสูตร มู.ม. 12/333/328.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง