[Font : 15 ]
| |
ไตรลักษณ์

1. พยัญชนะ : ไตรลักษณ์โดยพยัญชนะ : คือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการกำหนดรู้ 3 ประการ.

2. อรรถะ : ไตรลักษณ์โดยอรรถะ : คือ ลักษณะของธรรมทั้งปวงทั้งปวงที่ควรกำหนดรู้ เพื่อประโยชน์แก่การดับทุกข์ ซึ่งคนธรรมดามองไม่เห็น : ได้แก่ ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง, ความเป็นทุกข์, ความเป็นอนัตตา.

3. ไวพจน์ : ไตรลักษณ์โดยไวพจน์ : คือ สามัญญลักษณะ, พุทธพหุลานุสาสนี (แต่ท่านมักรวมทุกขลักษณะไว้ในอนิจจลักษณะ) ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : ไตรลักษณ์โดยองค์ประกอบ :

นัยที่ 1 : องค์ประกอบในทางปรากฏการณ์ภายนอก : คือ ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง, ความเป็นทุกข์, ความเป็นอนัตตา.

นัยที่ 2 : ลักษณะแห่งความเนื่องกันอย่างเร้นลับในภายใน :

1. ลักษณะของความเปลี่ยนแปลงเรื่อย (อนิจจัง).

2. ลักษณะที่ต้องผูกพันอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย (ทุกขัง).

3. ลักษณะที่บังคับให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ (อนัตตา). ทั้ง 3 องค์นี้สัมพันธ์กันอยู่อย่างที่ไม่แยกจากกันจึงได้เรียกว่า ไตรลักษณ์.

5. ลักษณะ : ไตรลักษณ์โดยลักษณะ : คือ มีลักษณะของการสัมพันธ์กันอยู่ของสิ่งทั้งสาม : คือ เปลี่ยนแปลงเรื่อย, ต้องผูกพันอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย และบังคับให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ; นี่คือ ลักษณะที่ผูกพันกันอยู่ของสิ่งทั้งสามอย่างแยกกันไม่ได้ เหมือนเชือกสามเกลียว.

6. อาการ : ไตรลักษณ์โดยอาการ : มีอาการ :

6.1 ครอบงำจักรวาลทุกๆ ปรมาณู.

6.2 ดุร้าย เฉียบขาด ไม่เห็นแก่หน้าใคร.

6.3 ประหนึ่งว่า เคี้ยวกินคนโง่ที่ไม่รู้จักมันอยู่เนื่องนิจ (คือทำให้เป็นทุกข์).

6.4 พร้อมที่จะสลายตัว สำหรับผู้ที่รู้จักและเห็นแจ้ง.

7. ประเภท : ไตรลักษณ์โดยประเภท :

7.1 ไตรลักษณ์สำหรับไว้สวดตามศาลาวัด.

7.2 ไตรลักษณ์ไว้สอนในโรงเรียนปริยัติธรรม.

7.3 ไตรลักษณ์ที่เห็นด้วยวิปัสสนาของผู้ปฏิบัติวิปัสสนา และบรรลุมรรคผล.

8. กฏเกณฑ์ : ไตรลักษณ์โดยกฏเกณฑ์ :

8.1 โดยตัวไตรลักษณ์เองเป็นกฎเกณฑ์ของจักวาล ; ไม่แบ่งแยกเป็นเวลาหรือสถานที่ สำหรับยกเว้นพิเศษ แก่บุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ.

8.2 โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์ ปฏิบัติผิดต่อไตรลักษณ์แล้วเป็นทุกข์ ; แล้วจะปฏิเสธว่าเพราะไม่รู้ไตรลักษณ์ไม่ได้ ; เช่นเดียวกับกฏหมายเมื่อกระทำผิดแล้วจะอ้างว่า ไม่รู้กฏหมายไม่ได้.

8.3 กฏไตรลักษณ์เป็นกฏนิรันดร ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แก้ไขตามยุคตามสมัย ; คงดำรงสภาวะอยู่เช่นนั้นตราบชั่วนิรันดร์.

9. สัจจะ : ไตรลักษณ์โดยสัจจะ :

9.1 ความปรารถนาของสรรพสัตว์ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงกฏไตรลักษณ์ได้ แม้ในกรณีพิเศษ.

9.2 สัจจะของไตรลักษณ์เป็นปรมัตถสัจจะ จึงนำมาใช้ไม่ได้ในกรณีที่พูดกันอย่างสมมติสัจจะของปุถุชน. ดังนั้นจะต้องเป็นที่เข้าใจกันเสียก่อนว่า จะพูดกันในสัจจะระดับไหน โดยไม่เกิดการขัดแย้งกัน.

9.3 โดยสัจจะแห่งไตรลักษณ์ ไม่มีบุคคลผู้เป็น ผู้เอา ผู้ได้ ผู้เสีย ฯลฯ แม้ผู้เป็นทุกข์; เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตา เว้นแต่จะกล่าวอย่างสัจจะของสมมติ.

9.4 ลักษณะแห่งไตรลักษณ์มีอยู่ทั่วทุกขุมขน แต่เราไม่เห็น และไม่มีผู้สอนให้เห็น. แม้สัญชาตญาณของเราก็ยังหลับอยู่ ยังไม่เป็นโพธิ.

9.5 สัจจะของไตรลักษณ์มีอยู่ตรงตามที่ตรัสว่า เห็นอนิจจังก็เห็นทุกขัง ; เห็นอนิจจังและทุกขัง ก็เห็นอนัตตา.

9.6 เรื่องไตรลักษณ์นี้มีสอนกันมาแล้วอย่างประปรายก่อนพุทธกาล : ไม่สมบูรณ์และไขว้เขว. เพิ่งจะสมบูรณ์สำเร็จประโยชน์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ; ถือเป็นหลักพระพุทธศาสนา.

9.7 ธรรมชาติทั้งหลายบรรยายธรรมและแสดงธรรมเรื่องไตรลักษณ์ตลอดเวลา ; แต่คนยังไม่มีตาและหูที่สูงพอจะมองเห็นและได้ยิน จึงยังคงเป็นความลับอยู่.

10. หน้าที่ : ไตรลักษณ์โดยหน้าที่

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของไตรลักษณ์ : เพื่อขจัดความโง่ของมนุษย์ ต่อลักษณะของธรรมชาติ ; ทั้งที่เป็นสังขตะและอสังขตะ.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อไตรลักษณ์ : ต้องรู้ ต้องเห็นไตรลักษณ์โดยเฉพาะที่มีอยู่ในนามรูปของตนเอง ; เพื่อป้องกันความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นต้นเหตุของทุกข์ทั้งปวง.

10.3 หน้าที่ของพุทธบริษัททั้งปวง : คือ ช่วยกันเผยแผ่สัจจะของไตรลักษณ์ เพื่อเป็นหนทางแห่งนิพพาน.

11. อุปมา : ไตรลักษณ์โดยอุปมา :

11.1 เหมือนพระเป็นเจ้าที่ทุกคนต้องเชื่อฟังและเข้าถึง แม้ว่าจะเป็นพระเป็นเจ้าอย่างมิใช่บุคคลก็ตาม.

11.2 เหมือนแสงสว่างที่ยิ่งกว่าแสงอาทิตย์ แต่ปุถุชนมีไฝผ้าในดวงตามากเกินไป จนมองไม่เห็นแล้วประพฤติผิดๆ.

11.3 ถ้าเห็นแล้ว มีอุปมาเหมือนยาที่ป้องกันและแก้ไขโรคทางวิญญาณทุกชนิด.

11.4 ถ้าเห็นแล้ว มีอุปมาเหมือนอาวุธที่พิฆาตศัตรู.

11.5 เป็นเหมือนยักษ์ร้ายที่คอยกัดกินผู้ไม่รู้จักมัน.

12. สมุทัย : ไตรลักษณ์โดยสมุทัย :

12.1 ความจริงตามธรรมชาติ: เป็นที่เกิดแห่งกฏไตรลักษณ์.

12.2 พระสัมมาสัมพุทธเจ้า: เป็นที่มาแห่งคำสอนเรื่องไตรลักษณ์.

12.3 กฏไตรลักษณ์ในฐานะที่เป็นอสังขตะ: ย่อมเป็นสมุทัยอยู่ในตัวเอง.

13. อัตถังคมะ : ไตรลักษณ์โดยอัตถังคมะ :

13.1 อัตถังคมะของไตรลักษณ์: ในฐานะที่เป็นกฏนั้น ไม่มี.

13.2 อัตถังคมะของไตรลักษณ์: ในฐานะที่เป็นลักษณะหรือเป็นอาการย่อมมีเมื่อสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งลักษณะหรืออาการนั้นได้ดับไป.

13.3 กฏแห่งไตรลักษณ์ : ไม่มีความหมายแก่พระอรหันต์. ข้อนี้เท่ากับว่าอิทธิพลของไตรลักษณ์ระงับไป เมื่อมาถึงเข้ากับความเป็นพระอรหันต์.

14. อัสสาทะ : ไตรลักษณ์โดยอัสสาทะ :

14.1 ความจริงของไตรลักษณ์ เป็นอัสสาทะแห่งสติปัญญาของมหาปราชญ์.

14.2 เป็นอัสสาทะตลอดเวลา ของผู้เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วปฏิบัติจนได้ผล.

15. อาทีนวะ : ไตรลักษณ์โดยอาทีนวะ : อาทีนวะโดยตรงของไตรลักษณ์ไม่มี ; มีแต่ของสิ่งที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ แล้วถูกยึดมั่นถือมั่น.

16. นิสสรณะ : ไตรลักษณ์โดยนิสสรณะ : นิสสรณะจากไตรลักษณ์ไม่ต้องมี. แต่การเห็นแจ้งไตรลักษณ์เป็นนิสสรณะเครื่องออกจากทุกข์.

17. ทางปฏิบัติ : ไตรลักษณ์โดยทางปฏิบัติ :

17.1 ศึกษาให้รู้ แล้วปฏิบัติให้ได้ และได้รับประโยชน์.

17.2 ฝึกฝนการศึกษาและปฏิบัติให้แคล่วคล่องว่องไว จนนำมาใช้ได้ทันเวลาและเหตุการณ์.

18. อานิสงส์ : ไตรลักษณ์โดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์โดยตรง : เป็นวัตถุแห่งการศึกษาชั้นสูง ทั้งขั้นปริยัติและขั้นภาวนา.

18.2 อานิสงส์จากการเห็นไตรลักษณ์ : คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน.

18.3 แม้ในการเป็นอยู่อย่างชาวโลก : ก็เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทและมีความสงบเย็นได้เป็นอย่างดี.

19. หนทางถลำ : ไตรลักษณ์โดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่การรับรู้และการเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ :

19.1 สมาทานการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา ในทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

19.2 สร้างนิสัยหรือมีนิสัยแห่งความเป็นคนช่างสังเกตต่อทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ไตรลักษณ์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 ความเคารพในการศึกษาและคุณค่าของสติปัญญา.

20.2 ความสนใจในธรรมชาติของกายและจิต อย่างลึกซึ้งและต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ตรลักษณ์โดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : เป็นบทท่องจำ.

ภาษาธรรม : เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา.

21.2 ภาษาคน: ความจริงที่ชวนให้เกิดความกลัว.

ภาษาธรรม : ความจริงที่ทำให้เกิดความกล้า.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ตุลาการิกธรรม เล่ม 1

2. มหิดลธรรม

3. โอสาเรตัพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง