[Font : 15 ]
| |
ความกลัว เป็นเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิ (ชนิดโลกิยะ) |  

ภิกษุ ท. ! ความกลัว 4 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 4 อย่าง อย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ ความกลัวต่อการติเตียนตนด้วยตน ความกลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น ความกลัวต่ออาชญา ความกลัวต่อทุคติ.

ภิกษุ ท. ! ความกลัวต่อการติเตียนตนด้วยตน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า “ถ้าเราประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต, เราจะไม่พึงติเตียนเราโดยศีลได้อย่างไรกันเล่า ?” ดังนี้. เขากลัวต่อภัยจากการติเตียนตนด้วยตนแล้วจึงละกายทุจริต เจริญกายสุจริต, ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต, ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต, บริหารตนให้บริสุทธิ์อยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ความกลัวต่อการติเตียนตนด้วยตน.

ภิกษุ ท. ! ความกลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า “ถ้าเราประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต, ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงติเตียนเราโดยศีลได้อย่างไรกันเล่า” ดังนี้. เขากลัวต่อภัยจากการติเตียนจากผู้อื่นแล้วจึงละกายทุจริต เจริญกายสุจริต, ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต, ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต, บริหารตนให้บริสุทธิ์อยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ความกลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น.

ภิกษุ ท. ! ความกลัวต่ออาชญา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน เห็นพระราชาจับโจรผู้ประพฤติชั่วร้ายมากระทำการลงโทษโดยวิธีต่าง ๆ คือ โบยด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง หวดด้วยเชือกหนังบ้าง ทุบด้วยท่อนไม้บ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดเสียทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดเสียทั้งหูและจมูกบ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “หม้อเคี่ยวน้ำส้ม” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ขอดสังข์” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ปากราหู” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “มาลัยไฟ” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “มือคบเพลิง” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ริ้วส่าย” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “นุ่งเปลือกไม้” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ยืนกวาง” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เกี่ยวเหยื่อเบ็ด” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เหรียญกษาปณ์” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ทาเกลือ” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “แปรงแสบ” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เวียนหลัก” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ตั่งฟาง” บ้าง ย่อมราดด้วยน้ำมันร้อน ๆ บ้าง ย่อมปล่อยให้สุนัขทึ้งบ้าง ย่อมให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ย่อมตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง14.3 เขาก็มานึกขึ้นได้ว่า “เพราะเหตุแห่งการทำกรรมอันลามกเช่นนี้ พระราชาจึงจับโจรอันชั่วร้ายมากระทำการลงโทษโดยวิธีต่าง ๆ เช่น โบยด้วยแส้บ้าง …. ฯลฯ …. ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง. ถ้าเราจะพึงกระทำกรรมอันลามกเช่นนั้น พระราชาก็จะจับแม้เราไปกระทำการลงโทษโดยวิธีต่าง ๆ เช่นนั้นเหมือนกัน คือ โบยด้วยแส้บ้าง …. ฯลฯ …. ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง” ดังนี้. เขากลัวต่อภัยจากอาชญาแล้ว จึงไม่ประพฤติการฉกชิงทรัพย์ของผู้อื่นอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ความกลัวต่ออาชญา.

ภิกษุ ท. ! ความกลัวต่อทุคติ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า “วิบากของกายทุจริตอันชั่วร้าย จักมีข้างหน้า, วิบากของวจีทุจริตอันชั่วร้าย จักมีข้างหน้า, วิบากของมโนทุจริตอันชั่วร้าย จักมีข้างหน้า. ถ้าเราประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ แล้วจะต้องสงสัยอะไรกันอีกเล่าในข้อที่เราจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ภายหลังแต่การตายเพราะทำลายแห่งกาย”. เขากลัวต่อภัยแห่งทุคติดังนี้แล้ว จึงละกายทุจริต เจริญกายสุจริต, ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต, ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต, บริหารตนให้บริสุทธิ์อยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ความกลัวต่อทุคติ.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้เราแล คือ ความกลัว 4 อย่าง.

- จตุกฺก. อํ. 21/162/ - 164/121.

(ความรู้ที่ทำให้รู้จักกลัวต่อสิ่งที่ควรกลัว จัดเป็นสัมมาทิฏฐิชั้นต้น ๆ ได้ จึงนำมาใส่ไว้ในที่นี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง