[Font : 15 ]
| |
ญ. เป็นเหตุให้ได้อรูปฌานทั้ง 4 |  

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะการไม่กระทำในใจ ซึ่งนานัตตสัญญามีประการต่าง ๆ เราพึงเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่าอากาศไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติสมาธิ สามารถอำนวยให้เกิดอากาสานัญจายตนะได้ โดยเมื่อทำรูปฌานให้เกิดขึ้นแล้ว กำหนดนิมิตคือลมหายใจ โดยประจักษ์แล้ว ทำการเพิกถอนลมหายใจออกไปเสียจากนิมิตเหลือความว่างอยู่แทน และความว่างนั้น ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์อรูปฌานขั้นที่ 1 ในที่นี้ แม้ทำอย่างนี้ ก็กล่าวได้ว่าอากาสานัญจายตนะนั้น สืบเนื่องมาจากอานาปานสตินี้โดยตรง. ถ้าจำเป็นจะต้องสงเคราะห์อรูปฌานเข้าในอานาปานสติอันมีวัตถุ 16 แล้ว พึงสงเคราะห์เข้าในอานาปานสติขั้นที่ 4 คือการทำกายสังขารให้รำงับ. เท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ในหนังสืออานาปานสติชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส) ไม่มีการกล่าวถึงอรูปฌาน ก็เพราะไม่เป็นที่มุ่งหมายโดยตรงของการทำอานาปานสติที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะโดยเฉพาะ.)

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงเสียแล้ว พึงเข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ดังนี้แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า ต้องมีการทำอากาสานัญจายตนะ ดังที่กล่าวแล้วในข้อบนให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงเสียก่อน แล้วจึงเพิกถอนการกำหนดอากาศมากำหนดวิญญาณแทน หมายถึงวิญญาณธาตุที่ไม่มีรูปร่างซึ่งจัดเป็นนามธาตุหรือนามธรรม ; เนื่องจากทำสืบต่อมาจากอานาปานสติ จึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึง อากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่าไม่มีอะไร แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า เมื่อทำวิญญาณัญจายตนะให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว เพิกถอนการกำหนดอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุดเสีย มากำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์. เนื่องจากมีอานาปานสติเป็นมูล จึงกล่าวว่าสำเร็จมาจากอานาปานสติ.)

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า ได้มีการทำอากิญจัญญายตนะให้เกิดขึ้นแล้วอย่างมั่นคง แล้วเพิกถอนการกำหนดความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์นั้นเสีย หน่วงเอาความรำงับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปคือ ความไม่ทำความรู้สึกอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สลบหรือตาย จึงเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะซึ่งหมายความว่า จะว่ามีสัญญาอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีสัญญาเลยก็ไม่ใช่. เพราะมีอานาปานสติเป็นมูลในขั้นต้นด้วยกันทั้ง 4 ขั้น จึงเรียกว่าสำเร็จมาแต่อานาปานสติ อีกอย่างหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ในขณะแห่งรูปฌานแม้ไม่มีการหายใจอยู่โดยตรง ก็ต้องถือว่า มีการหายใจอยู่โดยอ้อมคือไม่รู้สึก ฉะนั้นเป็นอันกล่าวสืบไปว่า เพราะมีความชำนาญ หรือมีความเคยชินในการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า - ออกมาแล้วแต่ในขั้นก่อน ในขั้นนี้ ย่อมมีการกำหนดอารมณ์แห่งอรูปฌาน และความสงบอันเกิดจากอรูปฌาน ตลอดถึงการพิจารณาหรือปัจจเวกขณ์ในอาการทั้งหลายแห่งอรูปฌาน อยู่ทุกลมหายใจเข้า - ออก ทั้งโดยมีความรู้สึกตัวและไม่มีความรู้สึกตัว คือทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอีกนั่นเอง.)


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง