[Font : 15 ]
| |
ปรินิพพานในทิฏฐธรรม ด้วยการตัดอกุศลมูล |  

ภิกษุ ท.! กุศลมูล 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่างเหล่าไหนเล่า? 3 อย่างคือ อโลภะ เป็น กุศลมูล อโทสะ เป็นกุศลมูล อโมหะ เป็น กุศลมูล.

ภิกษุุ ท.! แม้ อโลภะ นั้น ก็เป็น กุุศล. บุุคคลผู้ไม่่โลภแล้้ว ประกอบกรรมใดทางกาย ทางวาจา ทางใจ; แม้ กรรมนั้น ก็เป็น กุศล. บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภไม่กลุ้มรุมแล้ว ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นโดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้; แม้ กรรมนี้ ก็เป็น กุศล : กุศลธรรมเป็นอเนก ที่เกิดจากความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นสมุทัย มีความไม่โลภเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ด้วยอาการอย่างนี้.

(ในกรณีแห่ง อโทสะ และ อโมหะ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่ง อโลภะ อย่างที่กล่าวได้ว่าทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น).

ภิกษุ ท.! บุคคลชนิดนี้นั้น ควรถูกเรียกว่าเป็น กาลวาทีี บ้าง ภูตวาที บ้าง อัตถวาที บ้าง ธัมมวาที บ้าง วินยวาที บ้าง. เพราะเหตุไรจึงควรถูกเรียกอย่างนั้น? เพราะเหตุว่า บุคคลนี้ ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นโดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้; และเมื่อ เขาถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็ยอมรับไม่บิดพลิ้ว ; เมื่อ ถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ก็พยายามที่จะทำให้แจ้งชัด ออกมาว่า นั่นไม่ตรง นั่นไม่จริง อย่างนี้ ๆ. เพราะเหตุนั้น บุคคลนี้ จึงควรถูกเรียกว่าเป็นกาลวาทีบ้าง ภูตวาทีบ้าง อัตถวาทีบ้าง ธัมมวาทีบ้าง วินยวาทีบ้าง.

ภิกษุ ท! อกุศลธรรมอันลามกซึ่งเกิดแต่ความโลภ อันบุคคลนี้ละขาดแล้ว โดยกระทำให้เหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันด้วน (ซึ่งหมายความว่ามีการตัดความโลภอันเป็นมูลแห่งอกุศลธรรมนั้นด้วย) ถึงความไม่มีไม่เป็น มีอันไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปเป็นธรรมดา. เขาย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความลำบากไม่มีความคับแค้นความเร่าร้อน ใน ทิฏฐธรรม นี้เทียว, ย่อม ปรินิพพานในทิฏฐธรรม นั่นเทียว (ทิฏฺเฐวธมฺเม ปรินิพฺพายติ). (ในกรณีแห่ง ความโกรธและความหลง ก็ได้ตรัสไว้โดยข้อความทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่ง ความโลภ ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่นต้นสาละ ต้นธวะ หรือต้นผันทนะก็ดี ถูกเครือเถามาลุวาสามชนิดขึ้นคลุมแล้ว รึงรัดแล้ว. ลำดับนั้น บุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้วตัดเครือเถามาลุวานั้นที่โคน ครั้นตัดที่โคนแล้วก็ขุดเซาะ ครั้นขุดเซาะแล้วก็รื้อขึ้นซึ่งรากทั้งหลายแม้ที่สุดเพียงเท่าก้านแฝก. บุรุษนั้นตัดเครือเถามาลุวานั้นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ครั้นตัดดังนั้นแล้วก็ผ่า ครั้นผ่าแล้วก็กระทำให้เป็นซีก ๆ ครั้นทำให้เป็นซีก ๆ แล้วก็ผึ่งให้แห้งในลมและแดด ครั้นผึ่งให้แห้งแล้วก็เผาด้วยไฟ ครั้นเผาแล้วก็ทำให้เป็นขี้เถ้า ครั้นทำให้เป็นขี้เถ้าแล้ว ก็โปรยไปตามลมอันพัดจัด หรือให้ลอยไปในกระแสน้ำอันเชี่ยว. ภิกษุ ท.! เครือเถามาลุวาเหล่านั้น มีรากอันถอนขึ้นแล้ว ถูกระทำให้เป็นเหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันด้วน ถึงความไม่มีไม่มีเป็น ไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปเป็นธรรมดา, ข้อนี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : อกุศลธรรมอันลามกซึ่งเกิดแต่ความโลภ อันบุคคลนี้ละขาดแล้ว กระทำให้เหมือนต้นตาลมีขั้วยอดอันด้วน ถึงความไม่มีไม่เป็น มีอันไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปเป็นธรรมดา. เขาย่อมอยู่เป็นสุขไม่มีความลำบาก ไม่มีความคับแค้นความเร่าร้อน ในทิฏฐธรรมนี้เทียว, ย่อมปรินิพพานในทิฏฐธรรมนั่นเทียว. (ในกรณีแห่งความโกรธ และความหลง ก็ได้ตรัสไว้โดยข้อความทำนองเดียวกัน อย่างที่กล่าวได้ว่าทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).

ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล กุศลมูล 3 อย่าง.

- ติก. อํ. 20/260/509.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง