[Font : 15 ]
| |
ต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาทละได้ด้วยการเห็นธรรมทั้งปวงว่าไมควรยึดมั่น

ต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาทละได้ด้วยการเห็นธรรมทั้งปวงว่าไม่ควรยึดมั่นPTC132

ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่หรือไม่หนอ ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว อวิชชาย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้น พระเจ้าข้า?”

ดูก่อนภิกษุ ! ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่แล ...ฯลฯ...

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมอย่างหนึ่ง นั้นคืออะไรเล่าหนอ ...ฯลฯ...?.

ดูก่อนภิกษุ ! อวิชชานั่นแล เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว อวิชชาย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้น.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร อวิชชาจึงจะละไป วิชชาจึงจะเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ?” ดูก่อนภิกษุ ! หลักธรรมอันภิกษุในกรณีนี้ได้สดับแล้ว ย่อมมีอยู่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น (ว่าเป็นตัวเรา - ของเรา)” ดังนี้ ดูก่อนภิกษุ ! ถ้าภิกษุได้สดับหลักธรรมข้อนั้นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นดังนี้แล้วไซร้, ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ;

ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว, ย่อมรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง ;

ครั้นรอบรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว, ภิกษุนั้นย่อมเห็นซึ่งนิมิตทั้งหลายของสิ่งทั้งปวงโดยประการอื่นPTC133:

ย่อมเห็นซึ่งจักษุโดยประการอื่น ; ย่อมเห็นรูปทั้งหลายโดยประการอื่น ; ย่อมเห็นซึ่งจักขุวิญญาณโดยประการอื่น ; ย่อมเห็นซึ่งจักขุสัมผัสโดยประการอื่น ; ย่อมเห็นซึ่งเวทนาอันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยประการอื่น.

(ในกรณีแห่งโสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี มโนก็ดี และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตต์ด้วยโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย และมโน นั้นๆ ก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มีนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งการเห็นจักษุและธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตต์ด้วยจักษุ)

ดูก่อนภิกษุ ! เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อวิชชาจึงจะละไป วิชชาจึงจะเกิดขึ้น.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า อวิชชาซึ่งเป็นต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาท จะละไปได้เพราะการเห็นแจ้งในข้อที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีเป็นภาษาบาลีว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ซึ่งควรถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ