[Font : 15 ]
| |
ทรงทราบอินทรีย์อันยิ่งหย่อนของสัตว์ |  

(คำอธิบายทสพลญาณข้อที่ 6)

อุทายิ! บุคคล 4 จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ในโลก. 4 จำพวกเหล่าไหนเล่า? 4 จำพวก คือ :-

อุทายิ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสลัดคืนซึ่งอุปธิ ความดำริอันซ่านไป (สรสงฺกปฺปา) ซึ่งประกอบด้วยอุปธิ กลุ้มรุมเขาอยู่;เขา ทนมีความดำริอันซ่านไปเหล่านั้น ไม่ละเสีย ไม่บรรเทาเสีย ไม่กระทำให้สิ้นสุดเสีย ไม่กระทำให้ถึงซึ่งความไม่มี; อุทายิ! เราย่อมกล่าวบุคคลนี้แล ว่า เป็นผู้ประกอบอยู่ด้วยกิเลส (สํยุตฺโต) หาใช่เป็นผู้ปราศจากกิเลส (วิสํยุตฺโต) ไม่. เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวอย่างนั้น? อุทายิ! เพราะหตุว่า เรารู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์(ที่มีอยู่) ในบุคคลนี้.

อุทายิ! แต่ว่าบุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสลัดคืนซึ่งอุปธิ ความดำริอันซ่านไป ซึ่งประกอบด้วยอุปธิ กลุ้มรุมเขาอยู่; เขาไม่ทนมีความดำริอันซ่านไปเหล่านั้น เขาละอยู่ บรรเทาอยู่ กระทำให้สิ้นสุดอยู่ กระทำให้ถึงซึ่งความไม่มีอยู่; อุทายิ! เราย่อมกล่าวบุคคลแม้นี้ ว่า ยังเป็นผู้ประกอบอยู่ด้วยกิเลส หาใช่เป็นผู้ปราศจากกิเลสไม่ อยู่นั่นเอง. เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวอย่างนั้น? อุทายิ! เพราะเหตุว่า เรารู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ (ที่มีอยู่) ในบุคคลนี้.

อุทายิ! แต่ว่าบุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสลัดคืนซึ่งอุปธิ; เพราะการหลงลืมแห่งสติในกาลบางคราว ความดำริอันซ่านไป ซึ่งประกอบด้วยอุปธิ ก็กลุ้มรุมเขาอยู่; อุทายิ! (ระยะเวลาที่) สติ (จะกลับ) เกิดขึ้น ก็ยังช้า (กว่าระยะเวลาที่) เขาทำให้ความดำรินั้นละไป บรรเทาไปสิ้นสุดไปถึงความไม่มีไปอย่างฉับพลัน, ไปเสียอีก.

อุทายิ! เปรียบเหมือนบุรุษหยดน้ำสองสามหยด ลงไปในกระทะเหล็กที่ร้อนเปรี้ยงอยู่ทั้งวัน; (ระยะเวลาที่) น้ำหยดลงไป ยังช้า (กว่าระยะเวลาที่) น้ำนั้นถึงซึ่งความเหือดแห้งหายไปอย่างฉับพลัน, ฉันใด; อุทายิ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กล่าวคือ บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสลัดคืนซึ่งอุปธิ; เพราะการหลงลืมแห่งสติในกาลบางคราว ความดำริอันซ่านไป ซึ่งประกอบด้วยอุปธิ ก็กลุ้มรุมเขาอยู่; อุทายิ! (ระยะเวลาที่) สติ (จะกลับ) เกิดขึ้นก็ยังช้า (กว่าระยะเวลาที่) เขาทำให้ความดำรินั้นละไป บรรเทาไป สิ้นสุดไป ถึงความไม่มีไปอย่างฉับพลัน, ไปเสียอีก; อุทายิ! เราย่อมกล่าวบุคคลแม้นี้ ว่า ยังเป็นผู้ประกอบอยู่ด้วยกิเลส หาใช่เป็นผู้ปราศจากกิเลสไม่ อยู่นั่นเอง. เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวอย่างนั้น? อุทายิ! เพราะเหตุว่า เรารู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์(ที่มีอยู่) ในบุคคลนี้.

อุทายิ! ก็แต่ว่า บุคคลบางคนในกรณีนี้ รู้แจ้งว่า "อุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์" ดังนี้แล้ว เป็นผู้ปราศจากอุปธิ หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นแห่งอุปธิ; อุทายิ! เราย่อมกล่าวบุคคลนี้แล ว่าเป็นผู้ปราศจากกิเลส หาใช่เป็นผู้ประกอบอยู่ด้วยกิเลสไม่. เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวอย่างนั้น? อุทายิ! เพราะเหตุว่าเรารู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ (ที่มีอยู่) ในบุคคลนี้.

อุทายิ! บุคคล 4 จำพวกเหล่านี้แล มีอยู่ในโลก.

หมายเหตุ: ข้อความที่กล่าวนี้ อาจจะเข้าใจยาก สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับสำนวนบาลี จึงขอสรุปความให้ดังนี้ : พวกที่ 1 ปฎิบัติเพื่อละอุปธิ ครั้นเกิดสรสังกัปปะความคิดที่เป็นกิเลสเนื่องมาแต่อุปธิ เขาทนต่อสรสังกัปปะนั้น ไม่มีการละการบรรเทาซึ่งสังกัปปะ เขายังเป็นสํยุตตโต คือประกอบอยู่ด้วยอุปธิ. พวกที่ 2 เมื่อเกิดสรสังกัปปะ เขาไม่ยอมทน แต่พยายามเพื่อละเพื่อบรรเทาซึ่งสังกัปปะนั้น ยังละไม่ได้ก็ยังเป็นสํยุตโตอยู่เช่นเดียวกัน. พวกที่ 3 ปฎิบัติเพื่อละอุปธิ เกิดสรสังกัปปะเมื่อเขาเผลอในบางคราวยังไม่ทันทำสติให้เกิดขึ้น เขาละสรสังกัปปะได้ แต่ก็ยังเป็นสํยุตโตอยู่นั่นเอง เพราะยังละอุปธิไม่ได้. พวกที่ 4 รู้แจ้งด้วยปัญญาถึงข้อที่อุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์ แล้วหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นอุปธิ นี้เรียกว่าเป็นวิสํยุตโต ผู้ไม่ประกอบอยู่ด้วยอุปธิ. สี่พวกนี้แสดงความต่างแห่งอินทรีย์ซึ่งทรงทราบได้ด้วยพระญาณ.

ยังมีบาลีอีกแห่งหนึ่ง ทำนองจะแสดงเรื่องอินทรีย์ ริยปโรปริยัตญาณด้วยเหมือนกันหากแต่เรียกโดยชื่ออื่น ว่าปุริสินท์ริยญาณ; แสดงอินทรีย์ของสัตว์ 6 ประเภท คือ พวกที่ 1 อกุศลปรากฎ, กุศลไม่ปรากฎ แต่กุศลมูลมีอยู่ จึงไม่เสื่อมอีกต่อไป. พวกที่ 2 กุศลปรากฎ อกุศลไม่ปรากฎ แต่อกุศลมูลมีอยู่จึงเสื่อมต่อไป. พวกที่ 3 ไม่มีธรรมขาวเลย มีแต่ธรรมดำ ตายไปอบาย. พวกที่ 4 อกุศลปรากฎ กุศลไม่ปรากฎ กุศลมูลถูกถอน จึงเสื่อมต่อไป. พวกที่ 5 กุศลปรากฎ อกุศลไม่ปรากฏอกุศลมูลถูกถอน จึงไม่เสื่อมต่อไป. พวกที่ 6 มีแต่ธรรมขาวโดยส่วนเดียว ไม่มีธรรมดำเลย จักปรินิพพานในทิฎฐธรรม. ดังนี้ก็เป็นการแสดงความต่างแห่งอินทรีย์ของสัตว์. ผู้สนใจพึงอ่านรายละเอียดจากบาลี สูตรที่ 8 ปฐมวรรค ทุติยปัณณาสก์ฉกฺก. อํ. 322/451/33. -ผู้รวบรวม.

- บาลี ลฑุกิโกปมสูตร ม.ม. 13/187/181. ตรัสแก่พระอุทายี ที่อาปณนิคมแคว้นอังคุตตราปะ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง