[Font : 15 ]
| |
อัฏฐังคิกมรรค เป็นปฏิปทาเพื่อความเป็นอริยบุคคล 4 |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุทั้งหลาย ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุเพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนา (อันเป็นอิทธิวิธีมีประการต่างๆ) เหล่านั้น เสียละกระมัง ?”

มหาลิ ! ภิกษุทั้งหลาย ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุเพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้น ก็หามิได้ ; แต่ธรรมะเหล่าอื่นที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า กว่าสมาธิภาวนาเหล่านั้น ก็มีอยู่ ; และ ภิกษุทั้งหลายพากันประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุเพื่อจะทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันยิ่งกว่าประณีตกว่าเหล่านั้น.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมทั้งหลาย อันยิ่งกว่าประณีตกว่าเหล่านั้น เป็นอย่างไรเล่า ?”

มหาลิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็น โสดาบัน เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า. มหาลิ ! นี้แล ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.

มหาลิ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ราคะโทสะโมหะก็เบาบาง เป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. มหาลิ ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.

มหาลิ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) มีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา. มหาลิ ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.

มหาลิ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่. มหาลิ ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.

มหาลิ ! ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล เป็นธรรมยิ่งกว่าประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายพากันประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อกระทำให้แจ้ง.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มรรคมีอยู่หรือ ปฏิปทามีอยู่หรือ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น ?”

มหาลิ ! มรรคมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มรรคเป็นอย่างไร ปฏิปทาเป็นอย่างไร เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น ?”

อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นแหละ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มหาลิ ! นี้แล มรรค นี้แล ปฏิปทา เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น.

- สี. ที. 9/199 - 200/250-254.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง