[Font : 15 ]
| |
ปฏิจจสมุปบาท เพื่อสามัญญผลในปัจจุบัน (7 ประการ : อรหันต์ 2, อนาคามี 5)

ปฏิจจสมุปบาท เพื่อ สามัญญผลในปัจจุบัน (7 ประการ : อรหันต์ 2, อนาคามี 5)PTC128

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การได้เห็น .. การได้ฟัง .. การได้เข้าไปหา .. การได้นั่งใกล้ .. การระลึกถึง .. การบวชตาม .. (แต่ละอย่างๆ) ในภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา-วิมุตติ-วิมุตติญาณทัสสนะ-นั้น เรากล่าว (แต่ละอย่างๆ ) ว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก. ....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า เมื่อผู้ใดฟังธรรมของภิกษุเช่นนั้นแล้ว เป็นผู้หลีกออกทั้งทางกายและทางจิตอยู่ ย่อมตามระลึกตริตรึกซึ่งธรรมนั้น ... สติสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีสติสัมโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์อยู่เช่นนั้นแล้ว ย่อมเลือกเฟ้น ย่อมพิจารณา ถึงการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ... ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์อยู่เช่นนั้นแล้ว (ก็เป็นอันว่า) เธอเป็นผู้ปรารภความเพียรแล้วไม่ย่อหย่อน ... วิริยสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิรามิสปีติ (ปีติอิงธรรม ไม่อิงอามิส) ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วเช่นนั้น ... ปีติสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจปิติ ย่อมสงบรำงับ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! จิตของภิกษุผู้มีกายสงบและเป็นสุข, ย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ (ผู้มีสมาธิสัมโพชฌงค์) ย่อมเป็นผู้เพ่งซึ่งจิตอันตั้งมั่นดีแล้วอย่างนั้น .. (เป็นอันว่า) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของเธอนั้น ย่อมถึงซึ่งความเจริญบริบูรณ์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้, ผลเป็นอานิสงส์ 7 ประการ ย่อมเป็นสิ่งที่เธอหวังได้, 7 ประการอย่างไรเล่า ? 7 ประการ คือ:-

(1) ย่อมบรรลุอรหันตตผลโดยพลัน ในทิฏฐิธรรม (ทันควัน) นั่นเทียว,

(2) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมบรรลุอรหันตตผล ในมรณกาล (เวลาที่กำลังจะตาย),

(3) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมเป็นอันตราปรินิพพายี (อนาคามี) เพราะสิ้นโอรัมภาคยสัญโญชน์ 5,

(4) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมเป็นอุปหัจจปรินิพพายี (อนาคามี) เพราะสิ้นโอรัมภาคยสัญโญชน์ 5,

(5) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมเป็นอสังขารปรินิพพายี (อนาคามี) เพราะสิ้นโอรัมภาคยสัญโญชน์ 5,

(6) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายี (อนาคามี) เพราะสิ้นโอรัมภาคยสัญโญชน์ 5,

(7) ถ้าไม่เช่นนั้น .. ก็ย่อมเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี (อนาคามี) เพราะสิ้นโอรัมภาคยสัญโญชน์ 5,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อโพชฌงค์ทั้ง 7 เป็นธรรมที่ภิกษุนั้นเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้, ผลเป็นอานิสงส์ 7 ประการ ย่อมเป็นสิ่งที่เธอหวังได้ อย่างนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตุว่า ในกรณีที่เกี่ยวกับอานิสงส์ทั้ง 7 ประการนี้ ไม่มีพระบาลีคำใดที่แสดงว่าเป็นเรื่องภายหลังจากการตายแล้ว (กายสฺส เกทา ปรํ มรณา) ดังที่เราพูดหรือสอนกันอยู่ทั่วไปๆ โดยไม่ยอมให้มีการวิพากย์วิจารณ์; ดังนั้น ในที่นี้จึงให้ชื่อว่า “สามัญญผลในปัจจุบัน”


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ