[Font : 15 ]
| |
ชาติ

1. พยัญชนะ : ชาติโดยพยัญชนะ : คือ การเกิด.

2. อรรถะ : ชาติโดยอรรถะ :

2.1 การเกิดทางวัตถุ : เกิดจากสิ่งที่เป็นแม่ทางกายหรือทางวัตถุ.

2.2 การเกิดทางจิต : เกิดจากสิ่งที่เป็นแม่ทางนามธรรม ได้แก่: เกิดความรู้สึก, ความคิดนึก เช่น การเกิดใสขณะแห่งปฏิจจสมุปบาทว่าตัวตน เป็นต้น.

2.2 การเกิดโดยการเปลี่ยนภาวะ : เป็นการเกิดโดยไม่ต้องมีบิดามารดา เกิดสมบูรณ์เต็มที่ทันที่: เช่น เกิดเป็นคนเลว, เกิดเป็นคนดี, เกิดเป็นพระอรหันต์, เกิดเป็นประพุทธเจ้า ; แต่การเกิดอย่างนี้ไม่เรียกว่า "ชาติ" ; เรียก "อุปัตติ" (อุบัติ).

2.3 การเกิดโดยการเปลี่ยนภาวะ : เป็นการเกิดโดยไม่ต้องมีบิดา มารดา เกิดสมบูรณ์เต็มที่ทันที : เช่น เกิดเป็นคนเลว, เกิดเป็นคนดี, เกิดเป็นพระอรหันต์, เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ; แต่การเกิดอย่างนี้ไมีเรียกว่า "ชาติ" : เรียกว่า "อุปัตติ" (อุบัติ).

3. ไวพจน์ : ชาติโดยไวพจน์:

3.1 ไวพจน์สำหรับคำ "ชาติ" : มีคำว่า คัพภนิกขมนะ (ออกจากครรภ์) ฯลฯ

3.2 สำหรับ "ชาติ" ทางจิต : มีคำว่า ภพ, ภว, สัมภว ฯลฯ

3.3 สำหรับการเกิดโดยเปลี่ยนภาวะหรืออุปัตติ : มีคำว่า นิพพัตติ ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : ชาติโดยองค์ประกอบ :

1. ความประสงค์แห่งการเกิด.

2. เหตุปัจจัยแก่การเกิด.

3. ที่เกิด.

4. โอกาสแห่งการเกิด.

5. ลักษณะ : ขาติโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ให้เกิดรูปธรรมอันใหม่.

5.2 ให้เกิดนามธรรมอันใหม่.

5.3 ให้เกิดภาวะใหม่แห่งรูปและนาม.

6. อาการ : ชาติโดยอาการ : คือ มีอาการแห่งสังขาร (การปรุงแต่ง) ทางรูป, ทางนาม และทางภาวะ ของรูปและนาม.

7. ประเภท : ชาติโดยประเภท : แบ่งโดยประเภท 4 :

7.1 ชาติทางรูปธรรม.

7.2 ชาติทางนามธรรม.

7.3 ชาติทางการเปลี่ยนภาวะของรูปธรรมและนามธรรม.

7.4 เมื่อกล่าวโดยภาษา: คำว่า "ชาติ" มีความหมายเป็น 2 ประเภท :

1. ชาติโดยสมมติ : คือชาติทางการเมือง (Nation) เช่น ชาติไทย, ชาติจีน, ชาติอังกฤษ ฯลฯ

2. ชาติทางปรมัตถ์ (Natural nativity) : คือ ชาติทางนามรูป, นามและภาวะ.

8. กฏเกณฑ์ : ชาติโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ชาติทางรูปธรรม สมบูรณ์เมื่อมีการแยกตัวจากกันของแม่และลูก (ผู้คลอดและสิ่งที่ถูกคลอด)

8.2 ชาติทางนามธรรม สมบูรณ์เมื่อมีอุปาทานว่าตัวตน.

8.3 ชาติทางการเปลี่ยนภาวะ สมบูรณ์เมื่อสามารถทำหน้าที่แห่งภาวะนั้นๆ.

8.4 ชาติเป็นสังขตธรรม มีอาการแห่งสังขาร คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป.

9. สัจจะ : ชาติโดยสัจจะ :

9.1 ชาติ (ในความหมายธรรมดา) เป็นที่ตั้งแห่งชรา, มรณะและความทุกข์อื่นๆ ที่เนื่องกัน.

9.2 การเกิดทางอุปาทานในปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่ง มีผลเนื่องไปถึงการเกิดด้วยอุปาทาน ในปฏิจจสมุปบาทรอบอื่น ; ซึ่งแม้เพียงวันเดียว ก็เกิดไม่รู้ว่ากี่สิบรอบ; เพราะมันเกิดทุกคราวที่มีการรับอารมณ์โดยปราศจากสติ.

9.3 การเกิดของนามรูปในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ทุกความหมาย (ทนยาก, น่าเกลียด, ว่างจะสาระ); มิใช่เพื่ออะไรอื่นนอกไปจากความทุกข์.

9.4 เมื่อใดมีตัณหา เมื่อนั้นมีชาติ เพราะตัณหาเป็นโปโนพภวิกา (นำมาซึ่งภพใหม่).

10. หน้าที่ : ชาติโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : หน้าที่ (โดยสมมติ) ของชาติ : คือ กระทำวิวัฒนาการ, เป็นที่ตั้งแห่งวิวัฒนาการ, เป็นโอกาสแห่งวิวัฒนาการ, ซึ่งล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์. จนกล่าวได้ว่า การเกิดแห่งชาติคือการเกิดแห่งทุกข์.

นัยที่ 2 : หน้าที่ของมนุษย์ต่อสิ่งที่เรียกว่าชาติ : คือ การทำไม่ให้มีสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ" อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์: เรียกโดยโวหารทางธรรมว่า "สิ้นชาติ" (ขีณา ชาติ).

นัยที่ 3 : หน้าที่เกี่ยวกับชาติโดยแยกความหมาย :

1. ชาติทางรูปธรรม : มีหน้าที่ทำให้เกิดการสืบพันธ์ุ ไม่สูญพันธุ์ของมนุษย์.

2. ชาติทางนามธรรม : มีหน้าที่ให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งของอุปาทาน.

3. ชาติโดยการเปลี่ยนภาวะของรูปธรรมและนามธรรม : ทำให้เกิด วิวัฒนาการทางจิต จนกว่าจะถึงที่สุด.

11. อุปมา : ขาติโดยอุปมา : เปรียบเสมือนคลื่น ตัณหาคือลมพัดแรง ; ธาตุทั้งหลายเปรียบเสมือนน้ำ ที่ถูกลมตัณหาพัดแรงให้กลายเป็นคลื่น ; อากัปกิริยาที่น้ำกลายเป็นคลื่นนี้ เรียกว่าสังขาร. ดังนั้น ชาติ จึงอุปมาด้วยคลื่น มีความจริงคือการเกิด - ดับ ชั่วคราวเท่านั้น.

12. สมุทัย : ชาติโดยสมุทัย : สำหรับชาติที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ : แยกเป็น 3 อย่าง :

1. สมุทัยชั้นต้นตอ : คือ อวิชา.

2. สมุทัยทั่วไป : คือ ตัณหา.

3. สมุทัยชั้นใกล้ชิด : คือ อุปาทาน.

13. อัตถังคมะ : ชาติโดยอัตถังคมะ : สำหรับชาติที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ : แยกเป็น 3 อย่าง :

1. อัตถังคมะตามธรรมชาติ : คือ การสิ้นสุดแห่งปัจจัยตามคราวโดยธรรมชาติ.

2. อัตถังคมะโดยการกระทำของผู้ปฏิบัติ : คือ การทำไม่ให้เกิดด้วยมีสติทันก่อนที่จะเกิดความรู้สึกปรุงแต่งเป็นความยึดมั่นถือมั่น.

3. อัตถังคมะขั้นสุดท้าย : ที่เป็นนิโรธะนั้น มีเพราะความสิ้นไปแห่งกิเลส.

14. อัสสาทะ : ชาติโดยอัสสาทะ :

นัยที่ 1 : มีอัสสาทะสูงสุด : เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกว่ามีตัวตน ของผู้ยังมีความยึดถือว่าตัวตน.

นัยที่ 2 : อัสสาทะธรรมดาทั่วไป : คือ ความหลงในชาติและสิ่งอืนๆ ที่เกี่ยวกับชาติอันเป็นที่พอใจของตน.

15. อาทีนวะ : ชาติโดยอาทีนวะ : คือ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที มีปัญหาภาระยุ่งยาก ทุกที.

16. นิสสรณะ : ชาติโดยนิสสรณะ :

16.1 มีการเป็นอยู่ตามหลักของอริยอัฏฐังคิกมรรค.

16.2 เมื่อกล่าวตามธรรมดาทั่วไป : คือ ความมีสติสัมปชัญญะ จนไม่มีโอกาสแห่งการเกิดด้วยตัณหาอุปาทาน.

17. ทางปฏิบัติ : ชาติโดยทางปฏิบัติ : ต่อสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ" :

17.1 ศึกษาจนรู้ชัดว่า ชาติมิใช่ตัวตน เป็นเพียงการปรุงแต่งของสังขาร; หรือการประชุมแห่งนามรูป ซึ่งไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา.

17.2 การมีสติจนไม่เผลอยึดถือชาติว่าเป็นตัวตนและของตน.

17.3 การดำเนินชีวิตอยู่ตามหลักของอริยอัฏฐังคิกมรรค.

18. อานิสงส์ : ชาติโดยอานิสงส์ :

นัยที่ 1 : อานิสงส์ของการมีชาติ: คือ ทำให้เกิดมีสนามรบ ซึ่งมีการรบระหว่างโพธิและกิเลส.

นัยที่ 2 : อานิสงส์ของชาติที่ถูกกระทำให้สิ้นไปแล้ว: คือ การดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

19. หนทางถลำ : ชาติโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่การมีชาติ :

19.1 ความหลงไหลในอัสสาทะของชาติ.

19.2 ความไม่มีสติในขณะแห่งการกระทบกับอารมณ์ หรือ อายตนะ ภายนอก หรือโลกนั่นเอง.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ชาติโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : กับความมีอยู่แห่งชาติ : คือ อวิชา, ตัณหา, อุปาทาน และสังขารการปรุงแต่ง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ชาติโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : การเกิดจากท้องแม่.

ภาษาธรรม : การเกิดทางจิตใจ มีอุปาทานเป็นแม่.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. พุทธิกจริยธรรม

2. วิสาขบูชาเทศนา เล่ม 1

3. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง