[Font : 15 ]
| |
(ปฏิปักขนัย ของหมวด 2 อันว่าด้วยการไม่สังวร) |  

ผู้มีหลักเสาเขื่อน

ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ; ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณือันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตหาประมาณมิได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศที่เกิดแล้วแก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนบรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเจ้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก และจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง. ภิกษุ ท.! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดังกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าข้า, และลิงก็จะไปป่า, ภิกษุ ท.! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว, ในกาลนั้นมันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่าอยู่ข้างเสาเขื่อน หรือเสาหลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุ ท.! ภิกษุรูปใดได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว ตาก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอักขยะแขยง; หูก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; จมูกก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ลิ้นก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; และใจ ก็จไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง; ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้.

ภิกษุ ท.! คำว่า "เสาเขื่อน หรือเสาหลัก" นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ.

ภิกษุ ท.! เพราะฉนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า "กายคตาสติของเราทั้งหลาย จำเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครือ่งนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารถสม่ำเสมอด้วยดี" ดังนี้. ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต สฬา. สํ. 18/247/349, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง