[Font : 15 ]
| |
ทรงแสดงอัตตวาทุปาทานในลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท (ในธรรมวินัยนี้ มีการบัญญัติอุปาทาน 4 โดยสมบูรณ์)

ทรงแสดงอัตตวาทุปาทานในลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท (ในธรรมวินัยนี้ มีการบัญญัติอุปาทาน 4 โดยสมบูรณ์)PTC83

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย 4 อย่างเหล่านี้ มีอยู่, 4 อย่างเหล่าไหนเล่า ? 4 อย่างคือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์บางพวก ปฎิญาณว่า เป็นผู้กล่าวผู้รอบรู้ซึ่งอุปทานทั้งปวง ปฎิญาณอยู่, แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้น หาได้บัญญัติความรอบรู้ซึ่งอุปาทานทั้งปวงโดยชอบไม่ กล่าวคือ บัญญัติอยู่แต่ความรอบรู้ซึ่งกามุปาทาน หาบัญญัติความรอบรู้ซึ่งทิฎฐุปาทาน ซึ่งสีลัพพัตตุปาทาน ซึ่งอัตตวาทุปาทานไม่. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่รู้ฐานะ(อุปาทาน) ทั้ง 3 เหล่านี้ตามที่เป็นจริง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์บางพวก ปฎิญาณตัวว่า เป็นผู้กล่าวผู้รอบรู้ซึ่งอุปทานทั้งปวง ปฎิญาณอยู่, แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้น หาได้บัญญัติความรอบรู้ซึ่งอุปาทานทั้งปวงโดยชอบไม่ กล่าวคือ บัญญัติอยู่แต่ความรอบรู้ซึ่งกามุปาทาน ซึ่งทิฎฐุปาทาน ...ฯลฯ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์บางพวก ปฎิญาณตัวว่า เป็นผู้กล่าวผู้รอบรู้ซึ่งอุปทานทั้งปวง ปฎิญาณอยู่, แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้น หาได้บัญญัติความรอบรู้ซึ่งอุปาทานทั้งปวงโดยชอบไม่ กล่าวคือ บัญญัติอยู่แต่ความรอบรู้ซึ่งกามุปาทาน ซึ่งทิฎฐุปาทาน ซึ่งสีลัพพัตตุปาทาน ...ฯลฯ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในธรรมวินัย (อันมีการบัญญัติอุปาทานไม่ครบถ้วนทั้ง 4 ประการ) เห็นปานนี้, ความเลื่อมใสในพระศาสดาก็ดี,ความเลื่อมใสในธรรมก็ดี, การกระทำให้บริบูรณ์ในศีลก็ดี, ความเป็นที่รักที่พอใจกันในหมู่สหธัมมิกก็ดี, เหล่านี้เราตถาคตกล่าวว่า ไม่เป็นไปโดยชอบ, ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ความเลื่อมใสเป็นต้นนั้น เป็นไปในธรรมวินัย อันบุคลกล่าวไว้ชั่วแล้ว อันบุคคลให้รู้ทั่วถึงอย่างชั่วแล้ว, ไม่เป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์, ไม่เป็นไปเพื่อความสงบรำงับ, มิใช่เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว.

... ... ... ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้กล่าวความรอบรู้ซึ่งอุปาทานทั้งปวง ปฏิญาณอยู่, ย่อมบัญญัติความรอบรู้ซึ่งอุปาทานทั้งปวงโดยชอบคือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้ซึ่งกามุปาทาน ซึ่งทิฏฐุปาทาน ซึ่งสีลัพพัตตุปาทานซึ่งอัตตวาทุปาทาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัย (ที่มีการบัญญัติอุปาทานครบถ้วนทั้ง 4 ประการ) เห็นปานนี้, ความเลื่อมใสในพระศาสดาก็ดี, ความเลื่อมใสในธรรมก็ดี, การกระทำให้บริบูรณ์ในศีลก็ดี, ความเป็นที่รักที่พอใจกันในหมู่สหธัมมิกก็ดี, เหล่านี้ เราตถาคตกล่าวว่า เป็นไปโดยชอบ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ความเลื่อมใสเป็นต้น นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปในธรรมวินัย อันเรากล่าวดีแล้ว, อันเราให้รู้ทั่วถึงแล้ว, เป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์, เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบรำงับ, เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหมาย ! ก็อุปาทาน 4 อย่างเหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด (นิทาน) ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด (สมุทย) ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด (ชาติก) ? มีอะไรเป็นแดนเกิด (ปภว) ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทาน 4 อย่างเหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุให้เกิด มีตัณหาเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีตัณหาเป็นเครื่องกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ตัณหานี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุให้เกิด มีเวทนาเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีเวทนาเป็นเครื่องกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุให้เกิด มีผัสสะเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีผัสสะเป็นเครื่องกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุให้เกิด มีสฬายตนะเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีสฬายตนะ เป็นเครื่องกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สฬายตนะ มีนามรูปเป็นเหตุให้เกิด มีนามรูปเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีนามรูปเป็นเครื่องกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุให้เกิด มีวิญญาณเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีวิญญาณเป็นเครื่องกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุให้เกิด มีสังขารเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีสังขารเป็นเครื่องกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็สังขารทั้งหลายเหล่านี้เล่า มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด ? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด ? มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด มีอวิชชาเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีอวิชชาเป็นเครื่องกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อวิชชาเป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว วิชชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ; ในกาลนั้น ภิกษุนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นซึ่งกามุปาทาน, ย่อมไม่ยึดมั่นซึ่งทิฎฐุปาทาน, ย่อมไม่ยึดมั่นซึ่งสีลัพพัตตุปาทาน, ย่อมไม่ยึดมั่นซึ่งอัตตวาทุปาทาน ; (ทั้งนี้) เพราะการสำรอกเสียได้หมดซึ่งอวิชชา, เพราะการเกิดขึ้นแห่งวิชชา : เมื่อไม่ยึดมั่น (คือไม่มีอุปาทาน) อยู่, ย่อมไม่สะดุ้ง ; เมื่อไม่สะดุ้ง, ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว.PTC84 เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์อันเราได้อยู่จบแล้ว, กิจที่ต้องทำได้สำเร็จแล้ว, กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาจงสังเกต จนเห็นลึกลงไปถึงว่า การไม่ปรินิพพานเฉพาะตนนั้น เพราะยังมีกิเลสเป็นเหตุให้สะดุ้ง, กล่าวคืออุปาทานข้อที่ 4 โดยเฉพาะนั่นเอง ; และการละอุปาทานข้อที่ 4 นี้ ยังมีความสำคัญในส่วนที่จะทำหมู่คณะให้เรียบร้อย, มีสรณาคมน์ตั้งมั่น ; และทำให้พุทธศาสนาแปลกไปจากศาสนาอื่น ที่บัญญัติอุปาทานไว้เพียง 3 อย่าง ; ดังนั้น หลักปฏิจจสมุปบาทในพุทธศาสนา จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ ในข้อที่ทำให้รู้จักและละเสียได้ ซึ่งอุปทานโดยสมบูรณ์จริงๆ ; และมีความสำคัญที่ต้องสังเกตว่า แม้จะกล่าวเพียงครึ่งท่อน คือ ตั้งแต่อุปาทานขึ้นไป, ก็สมบูรณ์ ; หรือเป็นปฏิจจสมุปบาท ที่สมบูรณ์ที่สายอยู่นั่นเอง, เพราะจะละอุปาทาน, หรือละอวิชชา, ทุกข์ก็ดับหมดเท่ากัน ; เพราะการละอุปาทานนั้น ละได้ด้วยการละอวิชชา นั่นเอง


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ