[Font : 15 ]
| |
ทรงทราบส่วนสุดและมัชฌิมา |  

บุคคล04.14 ไม่พึงประกอบตนด้วยความมัวเมาในกามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็นของ ชาวบ้าน บุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, และบุคคลไม่พึงประกอบตนในความเพียร เครื่องยังตนให้ลำบากอันเป็นไปเพื่อทุกข์ มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ข้อปฎิบัติที่เป็นมัชฌิมาปฎิปทา ไม่เอียงไปหาส่วนุ่ดทั้งสอง (ดั่งกล่าวมาแล้ว) นี้ เป็นสิ่งที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ได้เห็นแจ้งกระทำให้เป็นจักษุแล้ว ได้รู้แจ้งกระทำให้เป็นญาณแล้ว เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.

ภิกษุ ท.! ธรรมใดไม่เป็นเครื่องประกอบตามซึ่งความโสมนัส ของผู้มีสุขแนบเนื่องอยู่ในกามอันเป็นสุขต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน บุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ธรรมนั้นไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำความคับแค้น ไม่ทำความแห้งผากในใจ ไม่เผาลน แต่เป็นสัมมาปฎิปทา; เพราะเหตุนั้นธรรมนั้นชื่อว่า ไม่เป็นข้าศึก.

ภิกษุ ท.! ธรรมใดไม่เป็นเครื่องประกอบตามซึ่งความประกอบที่ยังตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์,ธรรมนั้นไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำความคับแค้น ไม่ทำความแห้งผากในใจ ไม่เผาลนแต่เป็นสัมมาปฏิปทา; เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ไม่เป็นข้าศึก.

ภิกษุท ท.! ในบรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมใดเป็นมัชฌิมาปฎิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ได้เห็นแจ้งกระทำให้เป็นจักษุแล้ว ได้รู้แจ้งกระทำให้เป็นญาณแล้ว ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความสงบ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และเพื่อนิพพาน, ธรรมนั้น ไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำความคับแค้น ไม่ทำความแห้งผากในใจ ไม่เผาลน แต่เป็นสัมมาปฎิปทา; เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ไม่เป็นข้าศึก.

ก็คำที่ตถาคตกล่าวแล้วว่า มิชฌิมาปฎิปทา ไม่เอียงไปหาส่วนสุดทั้งสองที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ฯลฯ นั้น หมายเอาอะไรเล่า? นี้หมายเอาอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

04.15ภิกษุ ท.! จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ของเราได้เกิดขึ้นแล้วในธรรมที่เราไม่ เคยได้ฟังมาแต่ก่อน ว่า "นี่เป็นความจริงอันประเสริฐคือทุกข์, ---ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์นี่นั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรอบรู้,---ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์นี่นั้น เราได้กำหนดรอบรู้แล้ว"; และว่า "นี่เป็นความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์, -------ความจริงคือเหตุให้เกิดทุกข์นี่นั้น ควรละเสีย, ---ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์นี่นั้นเราละเสียได้แล้ว"; และว่า "นี่เป็นความจริงอันประเสริฐ คือความดับทุกข์,---ความดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้ง, ---ความดับทุกข์นี้ เราทำให้แจ้งได้แล้ว; และว่า "นี่เป็นความจริงอันประเสริฐ คือทางให้ถึงความดับทุกข์, ---ทางให้ถึงความดับทุกข์นี้ ควรทำให้เจริญ, ---ทางให้ถึงความดับทุกข์นี้ เราทำให้เจริญได้แล้ว" ดังนี้.

บาลี อุปริ. ม. 14/423/654 และ 663,664,665,656. ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน. และ 19/529/1666.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง