[Font : 15 ]
| |
ปฏิจจสมุปบาท ที่ตรัสระคนกับปัญจุปาทานขันธ์

ปฏิจจสมุปบาท ที่ตรัสระคนกับปัญจุปาทานขันธ์PTC64

เรื่องในนครกบิลพัสดุ์ : เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงขับภิกษุสงฆ์หมู่หนึ่งผู้ละโมบในลาภสักการะ ให้ออกไปพ้นแล้ว ภายหลังทรงรำพึง เมื่อภิกษุเหล่านี้มิได้เห็นพระศาสดาก็จะหมุนไปผิดเหมือนลูกโคไร้แม่ จึงน้อมพระทัยไปในทางที่จะว่ากล่าวตักเตือน ด้วยพระทัยอันอนุเคราะห์ ในลักษณะที่บาลีใช้สำนวนว่า สหัมบดีพรหมเข้ามาอ้อนวอนให้ทรงกระทำเช่นนั้น จึงทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขารให้ภิกษุเหล่านั้นกล้าเข้ามาเฝ้าพระองค์ ทีละรูปสองรูป จนกระทั้งครบถ้วนแล้ว จึงตรัสพระพุทธพจน์นี้:-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อาชีพต่ำที่สุด ในบรรดาอาชีพทั้งหลาย คือการขอทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! คำสาปแช่งอย่างยิ่งในโลกนี้คือ คำสาปแช่งว่า “แกถือกระเบื้องในมือเที่ยวขอทานเถอะ” ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! กุลบุตรทั้งหลาย เข้าถึงอาชีพนี้ เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งประโยชน์ เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์, ไม่ใช่เป็นคนหนีราชภัณฑ์ ไม่ใช่เป็นขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่คนหนีหนี้ ไม่ใช่คนหนีภัย ไม่ใช่เป็นคนไร้อาชีพ, จึงบวช, อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกหยั่งเอาแล้ว โดยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย เป็นผู้อันความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏแก่เรา ดังนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่า กุลบุตร ผู้บวชแล้วอย่างนี้ กลับเป็นผู้มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะแก่กล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่นแล้ว มีจิตหมุนไปผิดแล้ว มีอินทรีย์อันตนไม่สำรวมแล้ว. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนดุ้นฟืนจากเชิงตะกอนที่เผาศพ ยังมีไฟติดอยู่ทั้งสอง ตรงกลางก็เปื้อนอุจจาระ ย่อมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในบ้านเรือนก็ไม่ได้ ยอมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในป่าก็ไม่ได้. ข้อนี้ฉันใด ; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวบุคคลนี้ว่ามีอุปมาเช่นนั้น ; คือ เป็นผู้เสื่อมจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ ด้วย, ไม่ทำประโยชน์แห่งสมณะให้บริบูรณ์ ด้วย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อกุศลวิตก (ความตริตรึกอันเป็นอกุศล) 3 อย่างเหล่านี้มีอยู่ ; กล่าวคือ กามวิตก (ความตริตรึกในทางกาม), พยาบาทวิตก(ความตริตรึกในทางพยาบาท), วิหิงสาวิตก(ความตริตรึกในทางทำผู้อื่นให้ลำบากโดยไม่เจตนา). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อกุศลวิตกทั้ง 3 อย่างนี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยดี ในสติปัฎฐานทั้ง 4 ; หรือว่า เมื่อบุคคลเจริญอยู่ซึ่งสมาธิอันหานิมิตมิได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ประโยชน์เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เพื่อการเจริญสมาธิอันหานิมิตไม่ได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!อนิมิตตสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสมาธิมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทิฎฐิทั้งหลาย 2 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ ; กล่าวคือ ภวทิฎฐิ และวิภาวทิฎฐิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีแห่งทิฎฐิทั้งสองอย่างนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาด้วยอาการอย่างนี้ว่า “ในโลกนี้ มีสิ่งใดๆ บ้างไหมหนอ ที่เมื่อเรายึดถืออยู่ เราจักเป็นผู้หาโทษมิได้ ?” ดังนี้. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดๆ เลย ที่เมื่อเรายึดถืออยู่ เราจักเป็นผู้หาโทษมิได้” (นตฺถิ นุ โข ตํ กิญฺจิ โลกสฺมึ ยมหํ อุปาทิยมาโน นวชฺชวา อสฺสํ) ดังนี้. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “เราเมื่อยึดถือ ก็ยึดถือซึ่งรูปนั่นเอง ซึ่งเวทนานั่นเอง ซึ่งสัญญานั่นเอง ซึ่งสังขารทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งวิญญาณนั่นเอง. เพราะความยึดถือ (อุปาทาน) ของเรานั้นเป็นปัจจัย ก็จะพึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย ก็จะพึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายก็จะพึงมี : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ พึงมี ด้วยอาการอย่างนี้”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร: รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? (“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? (“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา; นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ?” (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีการถามตอบด้วยข้อความอย่างเดียวกันทุกตัวอักษร กับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่ชื่อแห่งขันธ์ แต่ละขันธ์ เท่านั้น)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ในภายในหรือภายนอกก็ดี หยาบหรือละเอียดก็ดี เลวหรือปราณีตก็ดี อยู่ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั้น อันเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตรงตามที่เป็นจริง (ยถาภูตสัมมัปปัญญา) อย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา ; นั่นไม่เป็นเรา ; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ;” ดังนี้ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ในภายในหรือภายนอกก็ดี หยาบหรือละเอียดก็ดี เลวหรือปราณีตก็ดี อยู่ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมดนั้น อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่เรา ; นั่นไม่เป็นเรา ; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ” ดังนี้. สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ในภายใน หรือภายนอกก็ดี หยาบหรือละเอียดก็ดี เลวหรือปราณีตก็ดี อยู่ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมดนั้น อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่เรา ; นั่นไม่เป็นเรา ; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ; ดังนี้. สังขารทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ในภายในหรือภายนอกก็ดี หยาบหรือละเอียดก็ดี เลวหรือปราณีตก็ดี อยู่ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ก็ดี สังขารทั้งหมดนั้น อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า “ นั่นไม่ใช่เรา ; นั่นไม่เป็นเรา; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ; ดังนี้. วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ในภายใน หรือภายนอกก็ดี หยาบหรือละเอียดก็ดี เลวหรือปราณีตก็ดี อยู่ห่างไกลหรืออยู่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั้น อันเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่เรา ; นั่นไม่เป็นเรา ; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณอริยสาวกนั้น เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ; เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ อันเราอยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว, กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก,” ดังนี้ แล.

หมวดที่ 3 จบ


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ