[Font : 15 ]
| |
สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ เมื่ออานาปานสติบริบูรณ์ |  

ภิกษุ ท. ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (1) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้ายาว ; หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกยาว ดังนี้ก็ดี ; (2) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้าสั้น ; หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกสั้น ดังนี้ก็ดี ; (3) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (4) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่าเป็นกายอย่างหนึ่ง ๆ ในบรรดากายทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ.

(ข้อนี้อธิบายว่า การกำหนดลมหายใจทั้ง 4 ขั้นนั้น ชื่อว่าการกำหนดกายในกาย เพราะพระองค์ทรงเรียกลมหายใจว่ากาย เมื่อกำหนดและพิจารณาสมหายใจอยู่ ก็ชื่อว่า กำหนดและพิจารณากายอยู่ ในบรรดากายทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่ 1).

ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (5) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (6) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (7) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (8) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่า การทำในใจเป็นอย่างดี ถึงลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่านั่นเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ๆ ในบรรดาเวทนาทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ.

(ข้อนี้อธิบายว่า ความรู้สึกในใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการกำหนดลมหายใจ นั้นแหละเรียกว่าเวทนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ฉะนั้นการกำหนดต่อความรู้สึกเหล่านั้น ได้ชื่อว่าเป็นการกำหนดเวทนา และเรียกโดยบาลีว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่ 2).

ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (9) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (10) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (11) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (12) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราไม่กล่าวว่าอานาปานสติเป็นสิ่งที่มีได้ แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ.

(ข้อนี้อธิบายว่า ผู้มีสติลืมหลงหรือไม่มีสัมปชัญญะ ชื่อว่าไม่มีจิต ย่อมไม่สามารถกำหนดอานาปานสติ ซึ่งเป็นการกำหนดด้วยสติหรือจิต ซึ่งเรียกเป็นบาลีว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่ 3.)

ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (13) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (14) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (15) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; (16) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี ; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ.

(ข้อนี้อธิบายว่า ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับไม่เหลือ และความสลัดคืนก็ดี ลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสุญญตาก็ดี ตลอดถึงลักษณะแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส อันเป็นผลสุดท้ายที่เนื่องมาจากการเห็นลักษณะทั้งหลายข้างต้นก็ดี ล้วนแต่เรียกว่าธรรมในกรณีนี้ด้วยกันทั้งนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล็งถึงผลแห่งการปฏิบัติหมวดนี้ว่าเป็นธรรม จึงได้ตรัสเอาการละอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ ว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นตามเห็นอยู่ในกรณีนี้ และทรงบัญญัติว่านั่นเป็นการเห็นธรรมในบรรดาธรรมทั้งหลาย ซึ่งเรียกโดยบาลีว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่ 4.)

ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์.

- อุปริ. ม. 14/195-197/289.

ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในอานาปานสติทั้ง 16 วัตถุนั้น มีสติปัฏฐาน 4 รวมอยู่ด้วยในตัว หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน 4 อยู่ในตัวพร้อมกันไปในคราวเดียวกันโดยลักษณะอย่างไร. ต่อนี้ไป เป็นพระพุทธภาษิตที่แสดงว่า สติปัฏฐานทั้ง 4 นั้น จะกระทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ได้อย่างไรสืบไป : -


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง