[Font : 15 ]
| |
ธรรม

1. พยัญชนะ : ธรรมโดยพยัญชนะ : คือ ทรงตัวเอง (และสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง).

2. อรรถะ : ธรรมโดยอรรถะ :

2.1 ทรงตัวเอง ทรงผู้ปฏิบัติไว้เป็นธรรมดา: หมายถึงสิ่งที่ทรงตัวเอง และสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องไว้เป็นธรรมดา.

2.2 ธรรมหมายถึงธรรมชาติ ซึ่งไม่มีความหมายว่าสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ฯลฯ แต่ประการใด; แต่เป็นที่ตั้งแห่งการบัญญัติของมนุษย์ซึ่งมนุษย์บัญญัติไปตามความรู้สึกของตนอย่างมากมาย.

2.3 ธรรม หมายถึงสิ่งทุกสิ่งทั้งที่เป็นตัวเหตุ ตัวผล ตัวปรากฏการณ์ต่างๆ ; ตัวคำสอน ตัวการปฏิบัติ ตัวผลของการปฏิบัติ ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ทั้งสังขตะและอสังขตะ; ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และฝ่ายเหนือดีเหนือชั่ว. สรุปความว่า ตั้งแต่ขี้ฝุ่นอณูหนึ่งจนถึงนิพพาน ล้วนแต่เรียกว่า “ธรรม” ในความหมายของคำว่าธรรมชาติเสมอกันหมด.

2.4 ธรรม หมายถึงธรรมชาติ ซึ่งมีความหมายแยกออกได้เป็น 4 อย่าง :

1. ตัวธรรมชาติ (สภาวธรรม).

2. กฎธรรมชาติ (สัจธรรม).

3. หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตตามกฎธรรมชาติ (ปฏิบัติธรรม).

4. ผลที่ได้จากการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ (ปฏิเวธธรรม).

ทั้ง 4 อย่างนี้เรียกว่า “ธรรม” คำเดียวกันหมด.

2.5 โดยศัพทศาสตร์ คำว่า “ธรรม” ไม่อาจจะแปลไปเป็นคำใดคำหนึ่งในภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ; แต่อาจจะแปลไปเป็นคำ ๆ เดียวที่ใช้ได้ในทุกภาษา คือ แปลว่า “สิ่ง” (thing).

2.6 มนุษย์บัญญัติสิ่งที่พึงปรารถนาว่า ธรรม ; ส่วนที่ไม่พึงปรารถนาว่า อธรรม; แต่ทั้งธรรมและอธรรม ก็คือธรรมอยู่นั้นเอง ; เป็นธรรมของสัตบุรุษและพาลชน.

2.7 ธรรม คือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น.

2.8 การปฏิบัติในทางพุทธศาสนา แยกตัวพุทธศาสนาเป็น ปริยัติธรรม, ปฏิบัติธรรม, ปฏิเวธธรรม. ทั้งสามอย่างนั้นก็รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม”.

2.9 โดยสรุป ธรรมหมายถึงหน้าที่ ที่สิ่งมีชีวิตจะต้องทำ เพื่อความรอดอยู่ได้.

3. ไวพจน์ : ธรรมโดยไวพจน์ : คือ ธาตุ, ธรรมชาติ, ธรรมดา, ธรรมธาตุ, พระพุทธเจ้า (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา), ปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ; ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ; ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ ธรรม), ธรรมกาย (ตัวแห่งธรรม ซึ่งเป็นไวพจน์ของพระพุทธเจ้า).

4. องค์ประกอบ : ธรรมโดยองค์ประกอบ :

4.1 องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม”: ได้แก่ ธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ, หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ, และผลที่ได้จากการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ.

4.2 ธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งการเกิดดับของนามรูปทั้งปวง ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบแห่งธรรม.

4.3 ธาตุทั้งหลายทั้งปวง.

5. ลักษณะ : ธรรมโดยลักษณะ :

5.1 มีลักษณะที่สำคัญ คือ ทรงตัวอยู่ได้โดยตัวมันเอง. (สังขตธรรมก็ทรงตัวอยู่ได้โดยการเปลี่ยนแปลง ; อสังขตธรรมก็ทรงตัวอยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น วิสังขาร, นิพพาน).

5.2 ธรรมมีลักษณะเป็นอนัตตา.

5.3 ธรรม (ในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ) มีลักษณะของ “พระเจ้า” ผู้ควบคุมสากลจักรวาลทุกแง่ทุกมุม.

5.4 ธรรม มีลักษณะเป็นของลึก สำหรับคนประเภทที่หนาไปด้วยธุลีในดวงตา แต่ไม่ลึกสำหรับผู้มีธุลีในดวงตาแต่เพียงบางเบา.

6. อาการ : ธรรมโดยอาการ : คือ สังขตธรรมมีอาการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย และปรุงแต่งสิ่งอื่น; อสังขตธรรม มีอาการคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีเหตุปัจจัยและไม่ปรุงแต่งสิ่งใด.

7. ประเภท : ธรรมโดยประเภท

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. สังขตธรรม (สังขาร).

2. อสังขตธรรม (วิสังขาร).

กลุ่มที่ 2 :

1. โลกิยธรรม (ธรรมที่เป็นไปตามวิสัยโลก).

2. โลกุตตรธรรม (ธรรมที่อยู่เหนือวิสัยโลก).

กลุ่มที่ 3 :

1. ศีลธรรม (สมมติสัจจะ).

2. ปรมัตถธรรม (ปรมัตถสัจจะ).

กลุ่มที่ 4 :

1. ธรรมที่กล่าวโดยภาษาคน.

2. ธรรมที่กล่าวโดยภาษาธรรม.

กลุ่มอื่นๆ : โดยประเภทสองยังมีอีก เช่น อวิชชาธรรม, วิชชาธรรม ฯลฯ

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

กลุ่มที่ 1 :

1. ธรรมประเภทรูป (รูปธรรม).

2. ธรรมประเภทนาม (นามธรรม).

3. ธรรมที่ไม่ควรกล่าวว่ารูปหรือนาม (อสัขตธรรม).

กลุ่มที่ 2 :

1. กุศลธรรม.

2. อกุศลธรรม.

3. อพยากตธรรม (ธรรมที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล).

กลุ่มอื่นๆ : โดยประเภทสามยังมีกลุ่มอื่น ๆ อีกเช่น อดีตธรรม, ปัจจุบันธรรม, อนาคตธรรม ฯลฯ

8. กฏเกณฑ์ : ธรรมโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ธรรมที่เป็นสังขตะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ต้องเกิด-ดับเปลี่ยนแปลง ; ที่เป็นอสังขตะไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิด - ดับ ไม่เปลี่ยนแปลง.

8.2 ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา (ทั้งสังขตะ และอสังขตะ); ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน.

8.3 ธรรมที่เล็งถึงธรรมชาติสี่ความหมาย ต้องเป็นกฎเกณฑ์อยู่ในตัวมันเอง; และกฎเกณฑ์นั้นเฉียบขาดเหมือน “พระเจ้า”

8.4 ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ มีกฎเกณฑ์ว่า สิ่งใดเหมาะสมตามกฎธรรมชาติ สิ่งนั้นจะอยู่รอด; สิ่งใดไม่เหมาะสมสิ่งนั้นต้องสูญไป.

8.5 ธรรมเหล่าใดมีเหตุ ก็ต้องจัดการที่เหตุ; ธรรมเหล่าใดไม่มีเหตุก็ต้องจัดตนเอง ให้อยู่เหนืออำนาจแห่งเหตุ เพื่อให้เข้าถึงธรรมนั้น.

8.6 ธรรมนั่นแหละเป็นตัวกฎเกณฑ์แห่งวิวัฒนาการของสิ่งที่ต้องวิวัฒน์.

8.7 ธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ให้สิ่งมีชีวิตอยู่กันอย่างเป็นหมู่หรือสัมพันธ์กัน จนกลายเป็นสัญชาตญานของสิ่งมีชีวิต.

8.8 ธรรม (โดยความจริง) คือสิ่งทั้งปวง; ดังนั้นกฎเกณฑ์ของธรรม จึงใช้ได้กับสิ่งทั้งปวง.

9. สัจจะ : ธรรมโดยสัจจะ :

9.1 ธรรมหรือธรรมชาตินั้น ไม่ดีไม่ชั่ว, ไม่บุญไม่บาป, ไม่สุขไม่ทุกข์ ; เป็นเพียงกระแสของปฏิจจสมุปบาท. มนุษย์ไปบัญญัติเองตามความรู้สึกของตน ให้เป็นดี เป็นชั่ว เป็นต้น.

9.2 “ธรรม” คำเดียว ใช้เป็นคำตอบปัญหาแก่มนุษย์ได้ทุกคำถาม ; เว้นเสียแต่จะมองไม่เห็น.

9.3 ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แม้จะอยู่ในระดับสูงสุดเพียงไร ก็มิอาจจะนำมายึดถือโดยความเป็นอัตตา.

9.4 สัจธรรมทั้งปวงหาพบได้ในร่างกายที่ยังเป็นๆ อยู่นี่ ถ้ามีวิปัสสนา หรือวิชชาเพียงพอ.

9.5 สิ่งที่มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง คือ “กฎของธรรมชาติ” (ธรรมชาติ).

9.6 “สัจธรรม” นั้นธรรมชาติมีให้บัญญัติได้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.

9.7 สัจธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัตินั้น สำหรับใช้ปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์กันที่นี่เดี๋ยวนี้.

9.8 ธรรมนั้นมีค่า ต่อเมื่อมีการปฏิบัติอันถูกต้อง.

9.9 ธรรมที่จะกล่าวว่าดับทุกข์ได้จริงนั้น ต้องเป็นสันทิฏฐิกะ ประจักษ์ชัดอยู่กับจิตใจตนเอง; และเป็นอกาลิกะ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา.

9.10 ธรรมนั้นๆ ที่จะดับทุกข์ได้จริงหรือไม่นั้น มีเหตุผลชัดแจ้งอยู่ที่ตัวธรรมที่ทรงแสดงโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น.

9.11 การเห็นอาการที่อาศัยกันเกิดขึ้น; อาศัยกันแล้วดับลงของสังขารทั้งปวง; นั่นแหละคือการเห็นธรรม.

9.12 ธรรมเป็นสิ่งที่เป็นที่พึ่งได้โดยแท้จริง พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำ.

9.13 ธรรมเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตอย่างที่จะขาดเสียมิได้ ในฐานะเป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ คือเป็นอาหารฝ่ายจิตใจ คู่กับอาหารฝ่ายกาย.

10. หน้าที่ : ธรรมโดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : ธรรมมีหน้าที่ (โดยสมมติ) : คือคุ้มครองโลก.

นัยที่ 2 : ธรรมมีหน้าที่ (โดยสมมติ) : ดับทุกข์ให้แก่สิ่งที่รู้สึกเป็นทุกข์.

นัยที่ 3 : ธรรม (ในฐานะที่เป็นกฎธรรมชาติ) : มีหน้าที่สร้างโลก, ควบคุมโลก, ทำลายโลก, ให้เป็นไปตามกฎ.

11. อุปมา : ธรรมโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 แสงสว่างส่องทางเดิน.

11.2 แผ่นดินซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสิ่งทั้งปวง.

11.3 ยานพาหนะ เพื่อออกจากกองทุกข์.

11.4 พ่วงแพ (อุลุมปิก) คือเครื่องข้ามฟาก.

11.5 ม้าที่ต้องเลี้ยงดูเป็นอย่างดีสำหรับขับขี่ไปนิพพาน.

11.6 เครื่องคุ้มครองชีวิตทุกแง่มุม.

11.7 ร่มโพธิ์ร่มไทรของสัตว์โลก.

11.8 เกราะกันภัยของผู้ต่อสู้.

11.9 เครื่องรางแต่ยิ่งกว่าเครื่องราง.

11.10 ธรรมะแต่ละขั้นตอน เปรียบเสมือนศาลาพักทางในการเดินทางในวัฏฏสงสาร.

11.11 บ้านเรือนที่อยู่อาศัย (ของจิตใจ).

11.12 ร่มคันใหญ่สำหรับกันฝน (กิเลส).

11.13 เครื่องนุ่งห่มทั้งเพื่อความสบาย, เพื่อปกปิดความละอาย, และเพื่อความสวยงาม.

11.14 อาหาร (ทางจิตใจ).

11.15 ศาสตราวุธเพื่อประหารข้าศึก คือกิเลส.

11.16 ขุมทรัพย์ให้สิ่งที่พึงประสงค์ได้ทุกความหมาย.

11.17 กระจกเงา (ธมฺมาทาส) เพื่อส่องให้รู้จักตัวเอง.

11.18 ธรรม (บริสุทธิ์) เปรียบเสมือนห้วงน้ำใสที่ไม่มีตะกอน.

11.19 บ่อน้ำและสระน้ำที่ใช้เพื่อดับความร้อนและความกระหาย.

11.20 เกาะกลางสมุทรอันเป็นที่พึ่งพักของชาวเรือ.

11.21 โอสถสำหรับบำบัดโรค.

11.22 เหมืองทองของมนุษย์.

11.23 คู่ชีวิต (ยิ่งกว่าคู่ชีวิตในความหมายที่รู้สึกกันอยู่).

11.24 ธงชัยประจำกองทัพ.

11.25 ดนตรีและกาพย์กลอน ซึ่งไพเราะทั้งทางเสียงและความหมาย.

11.26 ธรรม (สทฺธมฺม) คือเสียงกลองที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ.

11.27 สิ่งประเล้าประโลมใจทางวิญญาณ ซึ่งไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก.

11.28 เปรียบเสมือนกติกาของกีฬา ระหว่างความดีกับความชั่ว.

11.29 ของหอมเครื่องชูใจ.

11.30 สวนดอกไม้ซึ่งมีให้เลือก (สมมติว่า) แปดหมื่นสี่พันชนิด.

11.31 ของที่แม้จะกินเล่นก็ยังมีประโยชน์

11.32 ไม้กวาดสำหรับกวาดกิเลสให้เกลี้ยงจากจิตใจ.

11.33 เสมือนพระเจ้าที่ยิ่งกว่าพระเจ้าใดๆ.

12. สมุทัย : ธรรมโดยสมุทัย :

12.1 อสังขตธรรมไม่มีสมุทัย.

12.2 สังขตธรรมมีอวิชชาเป็นสมุทัยเบื้องต้นที่สุด แล้วก็ปรุงแต่งให้เกิดปฏิจจสมุปปันนธรรมมาตามลำดับ ; ซึ่งก็ล้วนแต่มีสมุทัยเฉพาะตนๆ ด้วยกันทั้งนั้นจนตลอดสาย.

13. อัตถังคมะ : ธรรมโดยอัตถังคมะ :

13.1 ไม่มีสำหรับอสังขตธรรม

14. อัสสาทะ : ธรรมโดยอัสสาทะ : อัสสาทะในธรรมเรียกว่าธัมมนันทิ มีเฉพาะแก่ผู้ยังมีอุปาทานเหลืออยู่ เป็นความยึดมั่นถือมั่นในธรรมอยู่ระดับใดระดับหนึ่ง ; แต่ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความยึดมั่น : คือ :

14.1 ธัมมนันทิในอสังขตธรรม มีแก่ผู้ที่หมายมั่นในอสังขตธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีรสของความนิ่ง, ความหยุด, ความเย็น, ความสะอาด, ความสว่าง, ความสงบ, ความเป็นอิสระจากการปรุงแต่ง, การเวียนว่าย, อย่างเป็นที่น่าพอใจสูงสุด.

14.2 ธัมมนันทิในสังขตธรรม คือความเป็นเหยื่อล่อให้หลง เป็นไปเพื่อการปรุงแต่งตามชอบใจ.

15. อาทีนวะ : ธรรมโดยอาทีนวะ : มีเฉพาะแก่ผู้เข้าไปยึดถือในธรรมนั้นๆ และมีไม่ได้แก่บุคคลหรือในธรรม ซึ่งปราศจากความยึดถือ.

16. นิสสรณะ : ธรรมโดยนิสสรณะ : คือ ธรรมที่เป็นตัวการปฏิบัติ เพื่อกำจัดเสียซึ่งอวิชชา, ตัณหา, อุปาทาน, ซึ่งเป็นปัญหาหรือต้นเหตุแห่งความทุกข์ของสัตว์ทั่วไป. ธรรมนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค.

17. ทางปฏิบัติ : ธรรมโดยทางปฏิบัติ :

17.1 ศีล สมาธิ ปัญญา.

17.2 ศีล สมาธิ ปัญญา ที่อยู่ในรูปของอริยมรรคมีองค์แปดและอื่น ๆ.

17.3 ทางปฏิบัตินั้นต้องไม่ถือว่าเป็นไปเพื่อวัตถุหรือจิตโดยส่วนเดียว; หากถือเอาความถูกต้องของวัตถุและจิตรวมกัน.

17.4 ต้องเป็นการฝึกเพื่อเดินจากความมีตัวตน ไปสู่ความไม่มีตัวตนเสมอไป.

17.5 ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติทุกความหมาย.

17.6 การปฏิบัตินั้นเป็นอริยสัมมาสมาธิมีบริวารเจ็ด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า: “เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ” แปลว่า “ทางนี้เท่านั้นทางอื่นไม่มี”.

17.7 ฝึกความมีสติสมบูรณ์ในทุกกรณี.

17.8 แทงทะลุสมมติสัจจะ เข้าถึงปรมัตถสัจจะอยู่เป็นปกติ.

17.9 ถ้าจะมีการศึกษาพิจารณา ก็เอาสิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาพิจารณา.

17.10 ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ที่ว่า: ละชั่ว ทำดี มีจิตสะอาด ปราศจากการยึดถือ เป็นใจความสำคัญ.

17.11 ปฏิบัติธรรมคือปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นไปเพื่อความรอดทุกระดับ; เพราะคำว่า ธรรมะ แปลว่า หน้าที่.

17.12 การปฏิบัติธรรมมีได้หลายทางคือ แม้ในขณะที่เป็นผู้ฟังธรรม, แสดงธรรม, สาธยายธรรม, ใคร่ครวญธรรม, หรือทำสมาธิภาวนา.

17.13 เพื่อความสะดวกและเป็นไปโดยง่าย ควรมีการเกี่ยวข้องกับสัตบุรุษคือ : คบสัตบุรุษ นั่งใกล้สัตบุรุษ ฟังธรรมของสัตบุรุษ และใคร่ครวญธรรมของสัตบุรุษอยู่เป็นประจำ.

18. อานิสงส์ : ธรรมโดยอานิสงส์ :

18.1 ให้เกิดความรอดทั้งของปัจเจกชนและสังคม ทั้งทางกายและทางจิต.

18.2 ทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงในกองทุกข์.

18.3 ทำให้สามารถอยู่ในโลกนี้อย่างเหนืออำนาจของความเป็นบวกเป็นลบ.

18.4 ทำให้สามารถดำรงชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ.

18.5 ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางที่มนุษย์ควรจะไปถึง.

19. หนทางถลำ : ธรรมโดยหนทางถลำ :

นัยที่ 1 : เข้าไปสู่ความสนใจในธรรม : คือการได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ; และโอกาส เวลา สถานที่ เหตุการณ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อำนวยให้เกิดความสนใจในธรรม.

นัยที่ 2 : เข้าไปสู่การปฏิบัติธรรม : คือ การเห็นโลกโดยความเป็นของน่าเบื่อหน่าย และเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ธรรมโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการมีธรรมะ :

20.1 การได้ยินได้ฟัง การทำโยนิโสมนสิการA28 ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง การปฏิบัติตามผลของโยนิโสมนสิการ.

20.2 ความเจนจัดทางวิญญาณในชีวิตของตนแต่หนหลัง เป็นปัจจัยสูงสุดในการศึกษาธรรมชั้นลึก.

20.3 การที่สติปัญญาค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ตามสัญชาตญาณฝ่ายโพธิ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ธรรมโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : หมายถึง คำสั่งสอน ตู้พระธรรม, พระไตรปิฎก, เสียงที่แสดงธรรม, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของตน ในหมู่คนที่ เชื่อว่า พระธรรม (ผี) สร้างเรามา.

ภาษาธรรม : มีได้หลายนัย :

1. ความจริงของธรรมชาติ ความรู้และการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้.

2. สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ถือเอาว่าเป็นพระองค์ตัวจริง (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา).

3. สิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ.

4. หน้าที่ที่ต้องกระทำเพื่อความรอด.

21.2 ภาษาคน : มักหมายถึงธรรมชั้นศีลธรรม หรือโลกิยธรรม.

ภาษาธรรม : หมายถึงทั้งโลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม.

21.3 ภาษาคน : คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

ภาษาธรรม : หน้าที่และการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมบรรยายระดับมหาวิทยาลัย

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. ธรรมศาสตรา เล่ม 1

4. มหิดลธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง