[Font : 15 ]
| |
ทาน

1. พยัญชนะ : ทานโดยพยัญชนะ : คือ การให้, สถานที่ให้.

2. อรรถะ : ทานโดยอรรถะ :

2.1 เพื่อช่วยเหลือ

2.2 เพื่อบูชาคุณ.

2.3 เพื่อลดกิเลสของตนเอง.

3. ไวพจน์ : ทานโดยไวพจน์ : คือ จาคะ, บริจาค, การเสียสละ.

4. องค์ประกอบ : ทานโดยองค์ประกอบ : คือ การมีเจตนาที่จะให้, การมีสิ่งที่จะให้, การมีการให้, การมีผู้รับ.

5. ลักษณะ : ทานโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 เป็นการช่วยเหลือ.

5.2 เป็นการบูชาคุณ.

5.3 เป็นการลดกิเลสของตน.

6. อาการ : ทานโดยอาการ :

6.1 ให้ด้วยเจตนาที่เป็นกุศล โดยอาการสามอย่างตามลักษณะที่กล่าวแล้ว.

6.2 ให้ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศล โดยอาการเพื่อหากำไร, หาชื่อเสียง และเพื่อผูกพันคน.

6.3 ให้โดยอาการที่เคารพหรือไม่เคารพ ในบุคคลที่รับและของที่ให้.

7. ประเภท : ทานโดยประเภท :

7.1 ประเภทที่ต้องมีผู้รับ : ได้แก่:

1. วัตถุทาน : ให้เป็นของ.

2. อภัยทาน : ให้ความไม่มีเวร.

3. ธรรมทาน : ให้ความรู้.

7.2 ประเภทที่ไม่ต้องมีผู้รับเรียกว่าจาคะ : คือ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน และสละความยึดถือว่าตน เรียกว่าสุญญตาทาน.

8. กฏเกณฑ์ : ทานโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ต่อเมื่อมีความบริสุทธิ์และถูกต้องในผู้ให้และผู้รับ ; ในของที่ให้, อาการที่ให้, เวลาที่ให้, สถานที่ให้.

8.2 ทานที่มีผลน้อยหรือเกือบไม่มีผลเลย เมื่อตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว.

9. สัจจะ : ทานโดยสัจจะ :

9.1 จะเป็นทานชนิดไหนก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของการให้.

9.2 จะมีผลมากหรือมีผลน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ หรือความถูกต้องของการกระทำ.

9.3 พระอริยเจ้าจะสรรเสริญหรือไม่สรรเสริญ ก็ขึ้นอยู่กับการวิจัยเลือกเฟ้น(ผู้ให้, ของที่ให้, เวลาที่ให้ ฯลฯ).

9.4 จะมีผลเป็นโลกิยะ หรือโลกุตตระ ก็ขึ้นอยู่กับอุปาทานของผู้ให้.

10. หน้าที่ : ทานโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ต่อสิ่งที่เรียกว่าทานโดยทั่วไป :

นัยที่ 1 : หน้าที่โดยธรรมชาติ: ทุกคนต้องให้ทาน เพราะธรรมชาติกำหนดให้มีการช่วยเหลือกัน.

นัยที่ 2 : หน้าที่ทางศาสนาหรือทางศีลธรรม: เราต้องให้ทานเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมทางศาสนา.

นัยที่ 3 : หน้าที่ทางสังคมหรือทางการเมือง: เราต้องให้ทานเพราะเป็นการช่วยกันสร้างสันติภาพ.

10.2 หน้าที่ของผู้บำเพ็ญทานโดยเฉพาะ : ต้องมีการวิจัยแล้วเลือกเฟ้น ระมัดระวังการบำเพ็ญทาน ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่กล่าวแล้ว.

11. อุปมา : ทานโดยอุปมา :

11.1 ทานมีอุปมาเหมือนการรบ ชนะกิเลสเท่าไรก็ให้ทานเท่านั้น; พ่ายแพ้แก่กิเลสก็ไม่ให้ทานเลย.

11.2 ทานมีอุปมาเหมือนโซ่สัมพันธไมตรี หรือบางทีก็เสมือนเบ็ด.

12. สมุทัย : ทานโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยฝ่ายกุศล :

1. ความรักความเมตตา.

2. ความเห็นแก่ส่วนรวม.

3. ความอยากมีบุญมีกุศล

12.2 สมุทัยฝ่ายไม่สุจริตเจือด้วยอกุศล : คือ ทำด้วยความโลภ, ความเห็นแก่ตัว, การค้ากำไรเกินควร, ความอยากมีหน้ามีตา, การผูกมัดคนให้อยู่ใต้อำนาจ ฯลฯ

13. อัตถังคมะ : ทานโดยอัตถังคมะ :

13.1 การไม่ได้รับผลตามที่หวังไว้ จึงหยุดทำทานหรือหมดศรัทธา.

13.2 ความโลภหรือความตระหนี่เกิดขึ้นครอบงำ.

13.3 ความหมดปัจจัยและโอกาส.

14. อัสสาทะ : ทานโดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะระดับต่ำ :

1. ความมีหน้ามีตา มีพวกพ้องบริวาร.

2. ความอุ่นใจ ความแน่ใจว่ามีบุญมีกุศลเป็นที่พึ่ง.

14.2 อัสสาทะระดับสูง :

1. จิตที่ให้สบายกว่าจิตที่เอา อย่างที่เปรียบกันไม่ได้.

2. รู้สึกว่ามีบันไดแห่งนิพพาน หรือยู่ใกล้นิพพาน.

15. อาทีนวะ : ทานโดยอาทีนวะ : อาทีนวะของทานโดยตรงไม่มี ; จะมีก็ต่อเมื่อมีการทำทานด้วยมิจฉาทิฏฐิ หรือความงมงาย.

16. นิสสรณะ : ทานโดยนิสสรณะ : ไม่ต้องมีนิสสรณะจากทาน แต่ทานเป็นนิสสรณะอยู่ในตัวมันเอง ; คือ เป็นเครื่องนำบุคคลออกมาเสียจากกิเลส และความทุกข์.

17. ทางปฏิบัติ : ทานโดยทางปฏิบัติ : เพื่อนำเข้าไปสู่ทาน :

17.1 บำเพ็ญทานด้วยสัมมาทิฏฐิ.

17.2 มีสติสัมปชัญญะ เลือกเฟ้นวิจัยในการทำทาน.

17.3 ทำให้เป็นการลดอุปทาน หรือความเห็นแก่ตัว.

17.4 ทำทานให้ถูกฝาถูกตัว ถูกกาลเทศะ.

18. อานิสงส์ : ทานโดยอานิสงส์ :

18.1 ฝ่ายโลกุตตระ :

1. เป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพาน หรือเป็นบันไดขั้นต้นเพื่อพระนิพพาน.

2. เป็นการลดความมีตัวหรือความเห็นแก่ตัวในลักษณะที่ง่าย หรือ สะดวก.

18.2 ฝ่ายโลกิยะ :

1. เป็นที่รักที่พอใจเคารพนับถือในสังคม.

2. เพิ่มความแน่ใจว่าปลอดภัยในการอยู่ในสังคมยิ่งขึ้น.

19. หนทางถลำ : ทานโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่การบำเพ็ญทาน :

19.1 การคบหาสมาคมหรือการอยู่ในสกุลของบุคคลผู้มีใจบุญสุนทร์ทานอยู่เป็นประจำ.

19.2 การสังเกตเห็นประโยชน์ในกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ที่มีกันอยู่ทั่วไป.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ทานโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 ความถูกต้องของเจตนาที่จะให้, การให้, สิ่งที่ให้, ผู้รับ, ตลอดถึงเวลาและสถานที่.

20.2 มีสัมมาทิฏฐิทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย.

21. ภาษาคน-ภาษาธรรม : ทานโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผูรับ.

ภาษาธรรม : การให้หรือการเสียสละทุกสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน หรือกีดขวางหนทางพระนิพพาน.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ศารทกาลิกเทศนา เล่ม 1

2. โอสาเรตัพพธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง