[Font : 15 ]
| |
มีศีลงาม - ธรรมงาม - ปัญญางาม ก็เป็นเกพลี ! |  

ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล มีกัลยาณธรรม มีกัลยาณปัญญาเรากล่าวว่าเป็น เกพลี อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุตตมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณศีล เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย อยู่. ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณศีล. ด้วยอาการเพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีกัลยาณศีล.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณธรรม เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ตามประกอบซึ่งความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม 37 ประการอยู่. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณธรรม. ด้วยอาการเพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามีกัลยาณศีล มีกัลยาณธรรม.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณปัญญา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. ภิกษุ ท.! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณปัญญา. ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีกัลยาณศีล มีกัลยาณธรรม มีกัลยาณปัญญา; เราเรียกว่า เป็นเกพลี อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุตตมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้.

- อิติวุ. ขุ. 25/303/277.

(คำว่า เกพลี เป็นคำโบราณ มีความสำคัญ ใช้พูดกันทั่วไป เช่นเดียวกับคำ ว่า อรหันต์ ; มาบัดนี้เราไม่ได้ยินคำนี้ เพราะไม่นำมาใช้ ถ้านำมาใช้ก็แปลให้มีความหมายเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไป จนหมดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช้คำว่าเกพลี จึงไม่ชินหูเหมือนคำว่าอรหันต์. ขอให้เราใช้คำว่า เกพลี นี้ให้ติดปาก ให้ชินหู ก็จะได้มีคำสำคัญใช้กันมากขึ้นกว้างขวางออกไปในฐานะเป็นเครื่องเตือนใจ.

ผู้รวบรวมมีความเห็นว่า ศีลงาม - ธรรมงาม - ปัญญางาม ก็คืออริยอัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง ผลแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรคคือความเป็นเกพลี จึงนำข้อความนี้มารวมไว้ในหมวดนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง