[Font : 15 ]
| |
(หมวดเสนาสนะสงัด - ละนิวรณ์) |  

ภิกษุนั้น ประกอบด้วย อริยสีลขันธ์ นี้ด้วย ประกอบด้วย อริยอินทรียสังวร นี้ด้วย ประกอบด้วย อริยสติสัมปชัญญะ นี้ด้วย ประกอบด้วย อริยสันตุฏฐิ นี้ด้วย แล้ว, เธอ เสพสานาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง), ในเวลาภายหลังอาหาร กลับจากบิณฑบาตแล้ว เธอนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ละอภิชณาโลภะ แล้ว มีจิตปราศจากอภิชณาอยู่ คอยชำระจิตจากอภิชาณา; ละพยาบาท อันเป็นเครื่องประทุษร้ายแล้ว มีจิตปราศจากพยาบาทอยู่ เป็นผู้กรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาทอันเป็นเครื่องประทุษร้าย; ละถีนมิทธะ แล้ว มีจิตปราศจากถีนมิทธะ; ละอุทธัจจกุกกุจจะ แล้ว ไม่ฟ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายในอยู่ คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ, ละวิจิกิจฉา แล้ว ก้าวล่วงวิจิกิจฉาเสียได้อยู่ ไม่ต้องกล่าวนี่อะไร นี่อย่างไร ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา.

มาณพ! เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่ง กู้หนี้เขาไปทำงานสำเร็จผลใช้หนี้ต้นทุนเดิมหมดแล้ว กำไรยังเหลือพอเลี้ยงภรรยาได้ถมไป; เขาคงคะนึงถึงโชคลาภว่า “เมื่อก่อนเรากู้หนี้เขาไปทำการงานสำเร็จผล ใช้หนี้ต้นทุนเดิมหมดแล้ว กำไรยังเหลือพอเลี้ยงภรรยาได้ถมไป” ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์ บันเทิงใจโสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด, (นี้อย่างหนึ่ง),

มาณพ! เปรียบเหมือนชายอีกผู้หนึ่ง ป่วยไข้หนัก ทนทุกข์อาหารไม่ตก กำลังน้อย. ครั้นเวลาอื่นเขาหายจากไข้นั้น อาหารก็ตั้ง กำลังก็มี; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าว่า “เมื่อก่อน เราป่วยไข้หนัก ทนทุกข์ อาหารก็ไม่ตก กำลังน้อยลง บัดนี้เราหายจากไข้นั้น อาหารก็ตั้ง กำลังก็มีมา” ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจโสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด, (นี้อีกอย่างหนึ่ง),

มาณพ! เปรียบเหมือนชายอีกผู้หนึ่ง ติดเรือนจำ ครั้นเวลาอื่นเขาหลุดจากเรือนจำโดยสะดวก ไม่มีภัย ไม่เสียทรัพย์; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราติดเรือนจำ บัดนี้ เราหลุดมาได้โดยสะดวก ไม่มีภัย ไม่เสียทรัพย์” ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจโสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุฉันใด, (นี้อีกอย่างหนึ่ง),

มาณพ! เปรียบเหมือนชายอีกผู้หนึ่ง เป็นทาสเขา พึ่งตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจไม่ได้, ครั้นถึงสมัยอื่น เขาพ้นจากการเป็นทาง พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจได้; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจไม่ได้ ครั้นถึงสมัยอื่น เราพ้นจากการเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจได้” ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจโสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด, (นี้อีกอย่างหนึ่ง),

มาณพ! เปรียบเหมือนชายอีกผู้หนึ่ง นำทรัพย์เดินทางไกล อันกันดาร ภิกษาหายาก ประกอบด้วยภัย ครั้นสมัยอื่น พ้นทางกันดารได้โดยสะดวก. ลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ไม่มีภัย (ไม่ต้องเสียโภคทรัพย์). เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เรานำทรัพย์เดินทางไกลอันกันดาร ภิกษาหายากประกอบด้วยภัย ครั้นบัดนี้ เราพ้นทางกันดารได้โดยสะดวก ลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ไม่มีภัย” ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจโสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุฉันใด, (นี้อีกอย่างหนึ่ง);

มาณพ! ภิกษุ พิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ตนยังละไม่ได้ว่าเป็นเช่นกับการกู้หนี้ เช่นกับการเป็นโรค เช่นกับการติดเรือนจำ เช่นกับการเป็นทาส และการนำทรัพย์ข้ามทางกันดาร, และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ละเสียได้แล้วในตนเอง เป็นเช่นกับการหมดหนี้ การหมดโรค การหลุดจากเรือนจำ การพ้นจากทาส การบรรลุถึงที่พ้นภัย ฉันนั้นเหมือนกันแล.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง