[Font : 15 ]
| |
ข้อควรระวัง ในการเจริญสติปัฏฐาน 4 |  

อัคคิเวสสนะ ! .... ครั้นภิกษุประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า “มาเถิดภิกษุ ! เธอจง เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หรือลอมฟาง เถิด” ดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด, ครั้นก้าวกลับจากบิณฑบาต ในกาลเป็นปัจฉาภัต นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า, เธอย่อม ละอภิชฌา ในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌาอยู่, ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาทอยู่, ละถีนมิทธะ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีสติสัมปชัญญะ คอยชำระจิตจากถีนมิทธะอยู่, ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะอยู่, ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวถามว่า “นี่อะไร นี่อย่างไร” ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉาอยู่.

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ได้แล้ว, เธอ เป็นผู้มีปรกติ ตามเห็นกาย ในกาย อยู่ .... มีปกติ ตามเห็นเวทนา ในเวทนา ท. อยู่ .... มีปกติ ตามเห็นจิต ในจิตอยู่ .... มีปรกติ ตามเห็นธรรม ในธรรม ท. อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.

ตถาคต ย่อมแนะนำเธอนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า :-

“มาเถิด ภิกษุ ! เธอจงเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่ แต่อย่าตรึกซึ่งวิตกอันเข้าไปประกอบอยู่กับกายเลย (มา จ กายูปสญฺหิตํ วิตกฺกํ วิตกฺเกสิ) ;

มาเถิด ภิกษุ ! เธอจงเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นเวทนาในเวทนา ท. อยู่ แต่อย่าตรึกซึ่งวิตกอันเข้าไปประกอบอยู่กับเวทนาเลย ;

มาเถิด ภิกษุ ! เธอจงเป็นผู้มีปรกติ ตามเห็นจิตในจิต อยู่ แต่อย่าตรึกซึ่งวิตกอันเข้าไปประกอบอยู่กับจิตเลย ;

มาเถิด ภิกษุ ! เธอจงเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นธรรมในธรรม ท. อยู่ แต่อย่าตรึกซึ่งวิตกอันเข้าไปประกอบอยู่กับธรรมเลย” ดังนี้.

ภิกษุนั้น เพราะเข้าไปสงบระงับเสียได้ซึ่งวิตกและวิจาร จึงเข้าถึง ทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ทำให้สมาธิเป็นธรรมอันเอก ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่. (.... แล้วได้ตรัสถึง ตติยฌาน .... จตุตถฌาน .... ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ .... จุตูปปาตญาณ .... อาสวักขยญาณ จนกระทั่ง วิมุตติญาณ ตามหลักที่มีกล่าวอยู่ในบาลีทั่ว ๆ ไปที่กล่าวถึงเรื่องนี้).

- อุปริ. ม. 14/268 - 270/396 - 401.

(ที่ว่า มีข้อที่ควรระวังในการเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็คือ อย่าเอาอารมณ์แห่งสติปัฏฐาน 4 เช่นกายเป็นต้น มาทำให้เป็นอารมณ์ของวิตกอันเป็นองค์ฌานที่ 1 แห่งองค์ฌานทั้ง 5 เพราะว่าจะต้องละสิ่งที่เรียกว่าวิตก จึงจะเลื่อนจากปฐมฌานเป็นทุติยฌาน หรือฌานที่สูงขึ้นไป อันไม่มีวิตก ได้ ; ถ้าเอากายเป็นต้นมาเป็นอารมณ์แห่งวิตก มันก็จะเลื่อนลำดับแห่งฌานไม่ได้ ; เพราะกายเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ตลอดไป จึงควรพิจารณากายในฐานะเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา อย่าเอามาเป็นอารมณ์แห่งวิตก การเจริญภาวนาจึงจะเป็นไปได้ตามที่ตรัสไว้ในพระบาลีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน 4 โดยตรง).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง