[Font : 15 ]
| |
ความหมายของปฏิจจสมุปบาท แต่ละอาการ

ความหมายของปฏิจจสมุปบาท และละอาการPTC15

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดง เราจักแสดง เราจักจำแนก ซึ่งปฏิจจสมุปบาท แก่พวกเธอทั้งหลาย. พวกเธอทั้งหลายจงฟังซึ่งธรรมนั้น, จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์, เราจักกล่าวบัดนี้.

ครั้นภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ทูลสนองรับพระพุทธดำรัสแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ว่า :-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็ปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร) เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! :

เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย ;

เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ ;

เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป ;

เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ ;

เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ ;

เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา ;

เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา ;

เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปทาน ;

เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ ;

เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ ;

เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน: ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปๆ แห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตว์นิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ :นี้เรียกว่า ชรา การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตายการทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากสัตว์นิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า มรณะ ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ดังนี้; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้ เรียกว่า ชรามรณะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ชาติ เป็นอย่างไรเล่า ? การเกิด การกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตว์นิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้ เรียกว่า ชาติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ภพ เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า ภพ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย 4 อย่างเหล่านี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า อุปาทาน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย 6 หมู่เหล่านี้ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฎฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้ เรียกว่า ตัณหา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็เวทนา เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! หมู่เวทนาทั้งหลาย 6 หมู่เหล่านี้ คือ จักขุสัมผัสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้ เรียกว่า เวทนา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ผัสสะเป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! หมู่ผัสสะทั้งหลาย 6 หมู่เหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า ผัสสะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ? จักข์วายตนะ โสตายตยะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะกายายตนะ มนายตนะ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าสฬายตนะ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ? เวทนา สัญญา เจตนาผัสสะ มนสิการ : นี้ เรียกว่านาม. มหาภูตทั้ง 4 ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้ง 4 ด้วย: นี้ เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ดังนี้ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า นามรูป.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! หมู่วิญญาณทั้งหลาย 6 หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! นี้ เรียกว่า วิญญาณ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! สังขารทั้งหลาย 3 อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้ เรียกว่า สังขารทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็อวิชชา เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความไม่รู้อันใดแล เป็นความไม่รู้ในทุกข์, เป็นความไม่รู้ในเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, เป็นความไม่รู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นความไม่รู้ในข้อปฏิบัติเครื่องทําสัตว์ ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ : ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า อวิชชา.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ