[Font : 15 ]
| |
ทรงมีการประทม อย่างตถาคต |  

ภิกษุ ท.! การนอนมี 4 อย่าง คือการนอนอย่างเปรต, การนอนอย่างคนบริโภคกาม, การนอนอย่างสีหะ, การนอนอย่างตถาคต.

ภิกษุ ท.! การนอนอย่างเปรตเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! โดยมากพวกเปรตย่อม นอนหงาย นี่เรียกว่า การนอนอย่างเปรต.

ภิกษุ ท.! การนอนอย่างคนบริโภคกามเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.!โดยมาก คนบริโภคกามย่อม นอนตะแคงโดยข้างเบื้องซ้าย นี่เรียกว่า การนอนอย่างคนบริโภคกาม.

ภิกษุ ท.! การนอนอย่างสีหะเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! สีหะเป็นพญาสัตว์ ย่อมสำเร็จการนอนโดยข้างเบื้องขวา เท้าเหลื่อมเท้า สอดหางไว้ที่ระหว่างแห่งขา. สีหะนั้นครั้นตื่นขึ้น ย่อมชะเง้อกายตอนหน้าขึ้นสังเกตกายตอนท้าย ถ้าเห็นความดิ้นเคลื่อนที่ของกาย (ในขณะหลับ) ย่อมมีความเสียใจ เพราะข้อนั้น. ถ้าไม่เห็น ย่อมมีความดีใจ. นี่เรียกว่า การนอนอย่างสีหะ.

ภิกษุ ท.! การนอนอย่างตถาคตเป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.!การนอนอย่างตถาคตคือ ภิกษุในศาสนานี้ เพราะสงัดแล้วจากกาม ท. สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ท., ย่อมเข้าถึงฌานที่ 1 ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะวิตกวิจารรำงับไป เธอเข้าถึงฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน สามารถให้สมาธิผุดขึ้นเป็นธรรมเอก ไม่มีวิตกวิจารมีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึงฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า "เป็นผู้เฉยอยู่ได้มีสติอยู่เป็นสุข" แล้วแลอยู่. เพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอเข้าถึงฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์และไม่สุขมีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. นี่เรียกว่า การนอนอย่างตถาคต.

- บาลี จตุกฺก. อํ. 21/331/246. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง