[Font : 15 ]
| |
เต่าติดชนัก |  

ภิกษุ ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า.

ภิกษุ ! เรื่องเคยมีมาแล้วแต่หนหลัง : มีเต่าพันธุ์เดียวกันจำนวนมาก ฝูงหนึ่ง อาศัยอยู่นมนานในห้วงน้ำลึกแห่งหนึ่ง. ครั้งนั้นเต่าตัวหนึ่งได้เข้าไปหาเต่าอีกตัวหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วพูดว่า "พ่อเต่าเอ๋ย! เจ้าอย่าได้ไปเที่ยวหากินทางถิ่นโน้นเลย". ภิกษุ ! เต่า (ตัวที่ 2) ก็ยังขืนไปทางถิ่นนั้น. ชาวประมงได้แทงเต่าตัวนั้นด้วยชนัก. กาลต่อมา เต่า (ตัวที่ 2) ได้เข้าไปหาเต่า (ตัวที่หนึ่ง) ถึงที่อยู่. เต่า (ตัวที่หนึ่ง) ได้เห็น เต่า (ตัวที่สอง) มาแต่ไกล, ครั้นเห็นจึงกล่าวทักว่า "พ่อเฒ่า! เจ้าไม่ได้ไปเที่ยว หากินทางถิ่นโน้นไม่ใช่หรือ?"

"พ่อเต่า! เราได้ไปมาเสียแล้ว".

"อย่างไร พ่อเฒ่า! ก็เจ้าถูกแทงถูกตีมาบ้างไหม?"

"พ่อเต่าเอ๋ย! เราถูกแทงถูกตีเสียแล้ว นี่ เชือกสายชนัก ยังมีติดหลังเรามาด้วย".

"พ่อเต่าเอ๋ย! สมน้ำหน้าที่ถูกแทง สมน้ำหน้าแล้วที่ถูกตี. พ่อเต่าเอ๋ย! พ่อของเจ้า ปู่ของเจ้าได้รับทุกข์ถึงความพินาศด้วยเชือกเส้นนี้เหมือนกัน. เจ้าจงไปเสียเดี๋ยวนี้เถิด. บัดนี้เจ้าไม่ใช่พวกของเราแล้ว".

ภิกษุ ท.! คำว่า "ชาวประมง" เป็นคำชื่อแทนคำว่า "มารผู้มีบาป". คำว่า "ชนัก" เป็นคำชื่อแทนคำว่า "ลาภสักการะและเสียงเยินยอ". คำว่า "เชือกด้าย" เป็นคำชื่อแทนคำว่า "นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดีเพราะเพลิน)". ภิกษุ ท.! ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังรู้สึกอร่อยติดใจในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น หรือดิ้นรนใคร่จะได้อยู่; ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ภิกษุผู้ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศด้วยชนัก แล้วแต่มารผู้มีบาป ใคร่จะทำประการใด.

ภิกษุ ท.! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า "เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา" ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. 16/267/542-544.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง