[Font : 15 ]
| |
อายตนะ

1. พยัญชนะ : อายตนะโดยพยัญชนะ : คือ สิ่งหรือเครื่องเชื่อมต่อ การติดต่อ ทางติดต่อ หรือบ่อเกิด.

2. อรรถะ : อายตนะโดยอรรถะ : แบ่งเป็น 3 นัย :

นัยที่ 1 : สิ่งที่ถึง คือ รู้สึกได้ด้วยการติดต่อ (อายตนะภายนอก).

นัยที่ 2 : สิ่งซึ่งทำหน้าที่ติดต่อ (อายตนะภายใน).

นัยที่ 3 : การกระทำซึ่งเป็นการติดต่อให้ลุถึงผลที่ต้องการจะติดต่อ : เช่น การฟังธรรม, การแสดงธรรม, การสาธยายธรรม, การใคร่ครวญธรรม เป็นต้น; ซึ่งเรียกว่า “วิมุตตายตนะ” อันเป็นเหตุให้ถึง “วิมุตติ”.

3. ไวพจน์ : อายตนะโดยไวพจน์ : คือ อินทรีย์ (สำหรับอายตนะภายใน), อารมณ์ (สำหรับอายตนะภายนอก), โลก (สำหรับปรากฏการณ์ทั้งภายใน และภายนอก).

4. องค์ประกอบ : อายตนะโดยองค์ประกอบ :

4.1 องค์ประกอบของอายตนะภายในที่เป็นรูปธรรม (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ต้องประกอบด้วย : อวัยวะสำหรับอายตนะนั้นๆ ระบบประสาทและจิตที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับอวัยวะ หรือระบบประสาทนั้น ; ส่วนระบบที่เป็นนามธรรม (คือใจ) ไม่ต้องมีอวัยวะ ; มีแต่สิ่งที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกับระบบประสาทและจิต ; (เชื่อกันว่า น่าจะได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า หทยวัตถุ).

4.2 ส่วนอายตนะภายนอกนั้น : ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ตามลักษณะของอายตนะนั้นๆ คือ :

รูปธาตุ : สำหรับอายตนะประเภทรูป : คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส , โผฏฐัพพะ.

อรูปธาตุ : สำหรับอายตนะที่เป็นนาม คือ ธัมมายตนะ ซึ่งเรียกว่า : อากาสานัญจายตนะA105, วิญญาณัญจายตนะA106, อากิญจัญญายตนะA107, เนวสัญญานาสัญญายตนะA108.

4.3 ส่วนอสังขตธาตุ หรือนิโรธธาตุนั้น : ใช้สำหรับนิพพานายตนะ (นิพพาน) โดยเฉพาะ; ซึ่งก็เป็นอายตนะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน.

5. ลักษณะ : อายตนะโดยลักษณะ :

5.1 อายตนะภายในและอายตนะภายนอก มีลักษณะเหมือนเครื่องรับเครื่องส่งแก่กันและกัน.

5.2 อรูปายตนะ มีลักษณะที่อาจรู้สึกได้โดยไม่ต้องมีการรับการส่ง.

5.3 ส่วนนิพพานายตนะนั้น ไม่มีลักษณะ.

6. อาการ : อายตนะโดยอาการ : คือ

6.1 อายตนะภายในมีอาการแห่งการรับ อายตนะภายนอกมีอาการแห่งการส่ง.

6.2 อรูปายตนะ มีอาการที่ไม่รับไม่ส่ง แต่รู้สึกได้.

6.3 ส่วนนิพพานายตนะ ไม่มีอาการ.

7. ประเภท : อายตนะโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

นัยที่ 1 :

1. อายตนะภายใน.

2. อายตนะภายนอก.

นัยที่ 2 :

1. สังขตธรรม.

2. อสังขตธรรม.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. รูปธรรม.

2. อรูปธรรม.

3. อพยากตธรรม. (ที่ไม่ใช่ทั้งรูปและอรูป)

7.3 แบ่งโดยประเภทสี่ : ฝ่ายอรูปธรรม แบ่งตามชื่อของ อรูปฌาน เช่น อากาสานัญจายตนะ ฯลฯ

7.4 แบ่งโดยประเภทหก : แบ่งตามจำนวนของอายตนะฝ่ายรูปธรรม : คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ และคู่ของมัน : เช่น ตาคู่กับรูป, หูคู่กับเสียง ฯลฯ

ส่วนอายตนะฝ่ายอสังขตะไม่มีประเภท (มีอย่างเดียว คือ นิพพานายตนะ).

8. กฎเกณฑ์ : อายตนะโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 อายตนะฝ่ายสังขตะ เป็นสังขารธรรม คือ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ; ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ.

8.2 ส่วนอายตนะฝ่ายอสังขตะ เป็นวิสังขารธรรม อยู่เหนือกฎเกณฑ์ หรือไม่มีกฎเกณฑ์.

9. สัจจะ : อายตนะโดยสัจจะ :

9.1 ถ้ารู้จักปฏิบัติต่ออายตนะอย่างถูกต้อง ก็จะหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง.

9.2 สุข ทุกข์ หรืออะไรจะเกิดขึ้น ก็เนื่องจากการกระทำถูกหรือกระทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ที่เนื่องด้วยการกระทบของอายตนะนั้น.

9.3 อายตนะภายใน คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ; จะเรียกว่าเกิดได้ ก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่.

9.4 อายตนะภายในเป็นสิ่งที่จะต้องควบคุม อายตนะภายนอกเป็นสิ่งที่จะต้องระวังอยู่ตลอดเวลา.

9.5 การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็ยังต้องอาศัยการปฏิบัติที่เกี่ยวกับอายตนะ.

9.6 นรกก็อยู่ที่อายตนะ สวรรค์ก็อยู่ที่อายตนะ ; เมื่อกระทำผิดหรือกระทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตา.

9.7 ไม่มีอายตนะก็เท่ากับไม่มีสิ่งใดๆ.

10. หน้าที่ : อายตนะโดยหน้าที่ :

10.1 อายตนะภายในมีหน้าที่รับอารมณ์.

10.2 อายตนะภายนอกมีหน้าที่ให้คุณค่าทางอารมณ์.

10.3 ส่วนอายตนะที่เป็นอรูปธรรม คือ อรูปฌาน ; และอายตนะที่เป็นอสังขตธรรม คือ นิพพาน ไม่มีหน้าที่.

11. อุปมา : อายตนะโดยอุปมา :

11.1 อายตนะฝ่ายรูปธรรม : อุปมาด้วยบ่วงคล้องจิตสัตว์ ให้อยู่ในอำนาจของตัณหา ; เสมือนมหาสมุทรที่ตกจมของจิตสัตว์.

11.2 อายตนะฝ่ายอรูปธรรม : อุปมาเสมือนที่หลบซ่อนจากภัยอันเกิดจากรูปธรรม.

11.3 อายตนะฝ่ายอสังขตะ : คือ นิพพาน อุปมาเสมือนที่อยู่เหนือทุกข์ภัยโดยประการทั้งปวง.

12. สมุทัย : อายตนะโดยสมุทัย :

12.1 การทำหน้าที่ของธาตุ ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ.

12.2 การกระทบของอายตนะนั่นเอง ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ. (เมื่ออายตนะทำงานเรียกว่า อายตนะเกิด).

12.3 ความมีอยู่แห่งนามรูป เป็นแดนเกิดแห่งอายตนะ (นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ).

13. อัตถังคมะ : อายตนะโดยอัตถังคมะ :

13.1 เมื่อธาตุไม่ทำหน้าที่ อายตนะ ก็ไม่เกิด.

13.2 เมื่อไม่มีการกระทบของอายตนะ สิ่งที่เรียกว่า อายตนะ ก็ไม่มี.

13.3 ความไม่มีอยู่แห่งนามรูปเป็นแดนดับแห่งอายตนะ (นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ),

13.4 อายตนะฝ่ายอสังขตะ คือ นิพพาน ไม่มีอัตถังคมะ.

14. อัสสาทะ : อายตนะโดยอัสสาทะ :

14.1 อายตนะ 6 ได้รับการประพฤติต่ออย่างถูกต้อง เป็นที่เกิดแห่งสวรรค์ ; ชนิดที่พระองค์ตรัสเรียกว่า “สฬายตนิกสคฺคามยา ทิฏฺฐา” (สวรรค์ที่อายตนะหกฉันเห็นแล้ว).

14.2 มีคุณค่าให้เกิดความยินดี, รักใคร่, พอใจ, หลงใหล, เอร็ดอร่อย ; จนทำให้เป็นทาสของอายตนะ.

15. อาทีนวะ : อายตนะโดยอาทีนวะ :

15.1 อายตนะ 6 ที่ได้รับการประพฤติต่ออย่างไม่ถูกต้อง เป็นที่เกิดแห่งนรก ; ชนิดที่พระองค์ตรัสเรียกว่า “สฬายตนิกนิรยามยา ทิฏฺฐา” (นรกที่อายตนะ 6 ฉันเห็นแล้ว).

15.2 มีอัสสาทะหรือรสอร่อยอันเป็นมายาหลอกลวง ที่ทำให้สามัญสัตว์หรือปุถุชนทั้งหลาย ตกเป็นทาสโดยไม่รู้สึกตัว.

15.3 เป็นต้นตอของปัญหา คือ ให้เกิดกิเลสขึ้น ; ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ.

15.4 เป็นจุดตั้งต้นของกรรมและวิบากกรรม.

15.5 เป็นต้นตอแห่งความเห็นแก่ตัว ทั้งแง่บวกและแง่ลบ.

15.6 เป็นที่เกิด ที่ตั้ง ที่เจริญของกิเลส (โรคทางวิญญาณ).

16. นิสสรณะ : อายตนะโดยนิสสรณะ : ทางออกจากอิทธิพลของอายตนะ :

16.1 ความมีสติสัมปชัญญะปัญญา อันเพียงพอในขณะแห่งผัสสะ.

16.2 ความเห็นแจ้งประจักษ์ในอนัตตตา หรือสุญญตาของอายตนะ (จนมีอตัมมยตา).

17. ทางปฏิบัติ : อายตนะโดยทางปฏิบัติ :

17.1 มีสติเมื่อสัมผัสอายตนะ.

17.2 เสวยเวทนาจากอายตนะใดๆ ; แล้วก็ไม่เป็นทาสแห่งอายตนะนั้น ; ทั้งทางบวกและทางลบ.

17.3 รู้จักปฏิบัติต่ออายตนะให้ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา คือ ไม่เกิดอุปาทานในอายตนะใดๆ.

17.4 ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 ก็จะไม่เกิดความทุกข์หรือปัญหาทุกอย่างที่เนื่องด้วยอายตนะ.

17.5 ใช้อายตนะทั้งทางรูปธรรมและอรูปธรรม เป็นบันไดสู่อายตนะอันเป็นอสังขตะ.

18. อานิสงส์ : อายตนะโดยอานิสงส์ :

นัยที่ 1 : อานิสงส์ของการมีอายตนะ : คือ ทำให้มีโอกาสและความเป็นไปได้แห่งการสัมผัส และศึกษาธรรมทั้งปวง (ไม่มีอายตนะ ไม่มีโอกาสศึกษาสิ่งใดๆ).

นัยที่ 2 : อานิสงส์ของการปฏิบัติต่ออายตนะอย่างถูกต้อง : คือ ทำให้อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง.

19. หนทางถลำ : อายตนะโดยหนทางถลำ : เข้าสู่ความเป็นทาสของอายตนะ :

19.1 การดำเนินชีวิตอย่างไม่มีกฎเกณฑ์.

19.2 ความเป็นอยู่ที่ปราศจากสติสัมปชัญญะ.

19.3 การอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยวนอายตนะ.

19.4 การตกเป็นทาสของโฆษณา.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อายตนะโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : กับการมีหรือการใช้อายตนะ :

20.1 ความรู้ที่ถูกต้องและเพียงพอ (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสติ, สัมมาญาณ).

20.2 หลักธรรมพื้นฐาน : คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ หรือสัปปุริสธรรม 7A109.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อายตนะโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : สิ่งที่คนไม่รู้จักและไม่อยากจะรู้จัก.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวคนนั่นเอง.

21.2 ภาษาคน : ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ทำหน้าที่รู้สึกและถูกรู้สึก.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมศาสตรา เล่ม 1

2. ธรรมะเล่มน้อย

3. ปรมัตถสภาวธรรม


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง