[Font : 15 ]
| |
ก. ฝ่ายถูกติ |  

ภิกษุ ท. ! จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนี้ เธอทั้งหลายไม่พึงทำความอาฆาต เกลียดชัง เจ็บใจในชนเหล่านั้น.

ภิกษุ ท. ! จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น ถ้าเธอทั้งหลายจักโกรธ ไม่พอใจในชนเหล่านั้นแล้วไซร้ อันตรายจะมีแก่เธอเพราะเหตุนั้น.

ภิกษุ ท. ! จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น ถ้าเธอทั้งหลายจักโกรธ ไม่พอใจ ในชนเหล่านั้นแล้วไซร้ เธอจะรู้ได้ไหมว่า คำกล่าวของเขานั้นเป็นสุภาษิตหรือทุพภาษิต ? “ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย พระเจ้าข้า !”

ภิกษุ ท. ! จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงแถลงให้เห็นเรื่องไม่จริง โดยความเป็นเรื่องไม่จริง ว่า “นี่ไม่จริงเพราะเหตุนี้ ๆ นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเพราะเหตุนี้ ๆ สิ่งอย่างนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งชนิดนั้นหาไม่ได้ในพวกเรา” ดังนี้.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง