[Font : 15 ]
| |
ทางเจริญของ "ลูกในคอก" |  

พราหมณ์! ในธรรมวินัยนี้ เรา สามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาไปตามลำดับ การกระทำไปตามลำดับ และการปฏิบัติไปตามลำดับ ได้เหือนกัน (กับที่ท่านมีวิธีฝึกสอนศิษย์ของท่านให้นับไปตามลำดับฉะนั้น).

พราหมณ์! เปรียบเหมือน ผู้ชำนาญในการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรก ย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงฝึกอย่างอื่นๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด. พราหมณ์เอย! ฉันนั้นเหมือนกัน, ตถาคต ครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรก ย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อน ว่า:-

"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล, สำรวมโดยดีในปาติโมกขสังวร, ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เป็นอยู่, มีปรกติเห็นเป็นภยในโทษทั้งหลาย แม้ที่ถือกันว่าเป็นโทษเล็กน้อย, จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด" ดังนี้

พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้มีศีล (เช่นกล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไป ว่า:-

"มาเถิด ภิกษุท.! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย : ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ่มรสด้วยลิ้น, ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย, ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว, จักไม่ถือเอาทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด และการถือเอาโดยการแยกเป็นส่วนๆ , สิ่งอันเป็นอกุศลลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามผู้ที่ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, เธอจักปฏิบัติ เพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, เธอจงรักษาและถึงการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ" ดังนี้.

พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้สำรวมอินทรีย์ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขั้นไปอีกว่า:-

"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ใช่ฉันเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์; ด้วยการทำอย่างนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสีย แล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น; ความที่อายุดำเนินไปได้, ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจักมีแก่เรา" ดังนี้

พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (เช่นที่กล่าวมานั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปกว่าอีก:-

"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา) จงชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากเครื่องกีดกั้นทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี. ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้า เหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น, ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากเครื่องกีดกั้นทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่ง ต่อไปอีก" ดังนี้.

พราหมณ์ ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรม เครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า:-

"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัปชัญญะ: รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง" ดังนี้.

พราหมณ์! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า:-

"มาเถิด ภิกษุ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ลำธาร ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง กองฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). ในเวลาภายหลังอาหาร เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า, เธอละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท; ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ; ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ; ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าว่า "นี่อะไร นี่อย่างไร" ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา" ดังนี้.

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ 5 ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลัง เหล่านี้ได้แล้ว, พระสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่. เพราะความจางไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า "ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข" ดังนี้แล้วแลอยู่. และเพราะละสุข และละทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแหงโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้ บรรลุฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่.

พราหมณ์เอย! ภิกษุเหล่าใด ที่ยังเป็นเสขะ (คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่, คำสอนที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.

พราหมณ์เอย! ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ตอ้งทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอยแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบแล้ว ธรรมทั้วหลาย (ในคำสอน) เหล่านี้ เป็นไป เพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐิธรรม และเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นแล.

- บาลี พระพุทธภาษิต คณกโมคคัลลานสูตร อุปริ. ม.14/82/94, ตรัสแก่คณกโมคคัลลานพราหมณ์ ซึ่งเข้าไปเฝ้าทูลถึงเรื่องการศึกษาไปตามลำดับ การกระทำไปตามบำดับ และการปฏิบัติไปตามลำดับ เช่น ในการเล่าเรียนของพวกพราหมณ์ ในกระบวนฝึกอาวุธของบุคลผู้ยิงศร และในการนับของตนเอง ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวิชาการบัญชีนี้, ในที่สุดได้ทูลขึ้นว่า แม้ในธรรมวินัยนี้ พระองค์อาจบัญญัติ เข่นที่กล่าวอ้างนั้น ได้หรือไม่. ทรงให้คำตอบแก่พราหมณืดังเรื่องนี้ ณ ที่บุพพาราม.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง