[Font : 15 ]
| |
การไม่เกิดอนุสัย 3 เมื่อเสวยเวทนา 3 แล้วดับเย็น |  

(พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปในโรงเรียนเป็นที่รักษาภิกษุเจ็บไข้ ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า :-)

ภิกษุ ท.! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ : นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับพวกเธอทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชาฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ....; เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ....; เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. อย่างนี้แล ภิกษุ ท.! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม. การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง, อย่างนี้แล ภิกษุ ท.! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ : นี้แล เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ถ้าเมื่อภิกษุ มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรม อยู่ อย่างนี้, สุขเวทนา เกิดขึ้น ไซร้ ; เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า "สุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แต่สุขเวทนานี้ อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นได้ไม่. อาศัยเหตุปัจจัย อะไรเล่า? อาศัยเหตุปัจจัยคือกายนี้ นั่นเอง ก็กายนี้ ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายซึ่งไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จักเป็นสุขเวทนาที่เที่ยงมาแต่ไหน" ดังนี้. ภิกษุนั้น เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่ ตามเห็นความเสื่อม ความจางคลายอยู่ ตามเห็นความดับไป ความสลัดคืนอยู่ ในกายและในสุขเวทนา. เมื่อเธอเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยง (เป็นต้น) อยู่ในกายและในสุขเวทนาอยู่ดังนี้, เธอย่อมละเสียได้ ซึ่ง ราคานุสัย ในกายและในสุขเวทนานั้น.

(ในกรณีถัดไปซึ่งเป็นการเสวย ทุกขเวทนา อันจะเป็นเหตุให้เกิด ปฏิฆานุสัย นั้น ก็ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกัน ที่ภิกษุพิจารณาเห็นกายและทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็ละปฏิฆานุสัยในกายและในทุกขเวทนานั้นเสียได้.

ในกรณีถัดไปอีก แห่งการเสวย อทุกกขมสุขเวทนา อันจะเป็นทางให้เกิด อวิชชานุสัย ก็ได้ตรัสวิธีปฏิบัติในการพิจารณาเห็นกายและอทุกขมสุขเวทนานั้น โดยทำนองเดียวกัน จนละอวิชชานุสัยเสียได้).

ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า "สุขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง, และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเลินอยู่" ดังนี้. ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า "ทุกขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง, และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่" ดังนี้. ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า "อทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง, และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่" ดังนี้.

ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวย อุทกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น.

ภิกษุนั้น เมื่อเสวย เวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ; เมื่อเสวย เวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ขัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ. เธอย่อม รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน ได้อาศัยน้ำมันและไส้แล้วก็ลุกโพลงอยู่ได้, เมื่อขาดปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะขาดน้ำมันและไส้นั้นแล้ว ย่อมดับลง, นี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือภิกษุ เมื่อเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ, ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ดังนี้. เมื่อเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตที่สุดรอบ ดังนี้. (เป็นอันว่า) ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้.

- สฬา. สํ. 18/260/374-381.

(ในสูตรถัดไป 18/264/3455 ทรงแสดง ที่เกิดของเวทนาทั้งสาม ว่าได้แก่ "ผัสสะ" แทนที่จะทรงแสดงว่าได้แก่ "กาย" เหมือนที่ทรงแสดงไว้ในสูตรข้างบนนี้, ส่วนเนื้อความนอกนั้นก็เหมือนกับข้อความแห่งสูตรข้างบนนี้ ทุกประการ).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง